วันศุกร์ ที่ 20 กันยายน 2567 19:39น.

“พาณิชย์-DITP”เผย “ขนมไทย” มีโอกาสขายญี่ปุ่น แนะเกาะเทรนด์รักษ์โลก ใช้นวัตกรรม

18 มีนาคม 2022

        กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เผยสินค้า “ขนมไทย” มีโอกาสส่งออกเจาะตลาดญี่ปุ่น แนะศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ระบุชอบขนมที่นุ่ม รับประทานได้สะดวก ไม่นิยมขนมที่ใช้เวลาในการบริโภค โดยเน้นให้เกาะเทรนด์รักษ์โลก ใช้บรรจุภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การผลิตมีนวัตกรรม และมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

        นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ..กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้ติดตามโอกาสในการส่งออกสินค้ารายการใหม่ ๆ เพื่อนำมาแจ้งเตือนให้กับผู้ผลิต ผู้ส่งออกสินค้าของไทย ได้วางแผนในการผลิตและส่งออกตามนโยบาย “ตลาดนำการผลิต” โดยกรมฯ ได้รับรายงานจากสำนักงานตัวแทนการค้าไทย ณ เมืองฮิโรชิมา ถึงแนวทางการขยายตลาดขนมไทยในญี่ปุ่น ที่ยังมีโอกาสเจาะตลาดได้อีกมาก หากสามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามที่ผู้บริโภคต้องการ

        ทั้งนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เกิดผู้บริโภคกลุ่มใหม่สำหรับสินค้าประเภทบิสกิต ซึ่งเดิมเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้บริโภคสตรีและผู้สูงอายุ แต่เมื่อเกิดโควิด-19 คนกักตัวหรือทำงานที่บ้าน บิสกิตจึงเป็นขนมที่เป็นที่ต้องการเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคยังต้องการบริโภคสินค้าใหม่ ๆ เช่น ช็อกโกแลต ที่ผู้ผลิตมีการพัฒนารสชาติใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เช่น รสมะนาวและรสถั่วพิสตาชิโอ เป็นต้น รวมทั้งยังมีพฤติกรรมซื้อขนมที่ขนาดบรรจุใหญ่ขึ้น เพื่อรับประทานหลายครั้ง และราคาถูกกว่าซื้อขนาดบรรจุเล็ก

        ขณะเดียวกัน มีแนวโน้มที่สำคัญเกิดขึ้น คือ ชาวญี่ปุ่นเริ่มให้ความสำคัญกับการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ผลิตเปลี่ยนจากการใช้พลาสติกมาเป็นกระดาษมากขึ้น และลดปริมาณบรรจุภัณฑ์มากเกินจำเป็นลงมา เช่น ใช้พลาสติกที่บางลง หรือยกเลิกการใช้ถาดพลาสติก เป็นต้น

        นอกจากนี้ ยังพบว่า มีความต้องการสินค้าใหม่ ๆ รองรับสังคมผู้สูงอายุ เช่น ขนมที่มีการพัฒนาเป็น Functional food ที่มีคุณสมบัติการให้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น เยลลี่เหลวแบบสำหรับดื่มที่ให้พลังงานและเส้นใย หรือขนมที่มีนวัตกรรม เช่น ลูกอมดับกลิ่นปากที่ลดความแรงของมินท์ เพื่อให้เหมาะกับเวลาใส่หน้ากากอนามัย และขนมเคี้ยวหนึบ ที่มีการใช้นวัตกรรมในการผลิต เพื่อสร้างความแปลกใหม่ เช่น ขนมนำเข้าจากสเปนมีรูปร่างเป็นลูกกลมสีฟ้าและมีลวดลายเหมือนลูกโลก เมื่อเคี้ยวจะมีเสียงแตกและมีซ๊อสสีแดงรสชาติเบอร์รี่อยู่ข้างใน นำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นเหมือนลูกกวาดติดกันเป็นแผ่น เมื่อเคี้ยวจะเหมือนเคี้ยวลูกกวาดและข้างในจะเคี้ยวหนึบ ๆ พร้อมรสชาติผลไม้ หรือเป็นเยลลี่ที่มีรูบุ๋มตรงกลาง ในห่อมีหลอดเหมือนปากกาซึ่งบรรจุน้ำเชื่อมอยู่ เมื่อจะรับประทานจะหยอดน้ำเชื่อมลงในรู หรือขนมเคี้ยวหนึบที่มีลักษณะและรสสัมผัสเหมือนมาร์ชแมลโลว์ หรือขนมเคี้ยวหนึบที่มีส่วนผสมของ Palatinose ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสร้างพลังงานคาร์โบไฮเดรตสำหรับนักกีฬา โดยมีการออกแบบให้ง่ายต่อการรับประทานสำหรับนักกีฬา e-sport สามารถใช้มือข้างเดียวเปิดและเทใส่ปากในขณะที่มืออีกข้างต้องอยู่บนคอนโทรลคีย์บอร์ด หรือช็อกโกแลต ที่ใช้โอลิโกฟรุคโตสเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล

        นายภูสิตกล่าวว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นได้มีการเริ่มนำเข้าช็อกโกแลตจากไทยแล้ว เช่น แบรนด์ Kan Vela (กานเวลา) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตของไทยในเชียงใหม่ โดยจำหน่ายเป็นช็อกโกแลตระดับพรีเมียมในตลาดญี่ปุ่น และยังพบว่า มีขนมไทยอีกหลายประเภทที่มีโอกาสในการเจาะตลาดญี่ปุ่น โดยขนมที่คาดว่าจะจำหน่ายได้ ได้แก่ ขนมแบบญี่ปุ่น ขนมที่นุ่ม เช่น ขนมเคี้ยวหนึบ และขนมที่รับประทานได้สะดวก เช่น ช็อกโกแลต ข้าวเกรียบญี่ปุ่น ส่วนขนมที่ผู้บริโภคอาจจะไม่นิยม คือ ประเภทที่ใช้เวลาในการบริโภค เช่น หมากฝรั่ง ขนมที่ทอดด้วยน้ำมัน หรือลูกกวาดลูกอมที่แข็ง เป็นต้น

        อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคญี่ปุ่นมักจะสนใจสินค้าขนมประเภทใหม่ ๆ อยู่เสมอ จึงเป็นโอกาสสำหรับสินค้าขนมของไทยที่จะเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่น แต่ในการผลิต ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัย โดยเป็นปัจจัยที่ผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยจะต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก นอกจากนั้น จะต้องพิจารณาใช้บรรจุภัณฑ์และขนาดบรรจุที่เหมาะสมกับแนวโน้มของตลาด รวมทั้งควรติดตามศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมในช่วงนั้น ๆ ด้วย


คลิปวิดีโอ