วันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2567 18:24น.

“KWM” สบช่อง ภาคการเกษตรหนุนธุรกิจพุ่ง ล่าสุดโกย ออเดอร์ใบผาล เข้ากระเป๋า แล้ว 50,000 ใบ

15 มีนาคม 2022

        บมจ. เค.ดับบลิว.เม็ททัล เวิร์ค (“KWM”) ส่งซิกยอดคำสั่งซื้ออุปกรณ์ทางการเกษตรพุ่ง หลังลูกค้าเก่าซื้อซ้ำ-ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น ล่าสุดคว้า ออเดอร์ใบผาล แล้วกว่า 50,000 ใบ ระบุจ่อรับออเดอร์เพิ่มหากมียอดคำสั่งซื้อพุ่งต่อเนื่อง เผยตุนสต็อกสินค้าพร้อมส่งทุกออเดอร์ รับช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ พร้อมสบช่องเดินเกมรุกขยายช่องทางออนไลน์ ภายใต้แบรนด์“Pegasus” หวังเจาะตลาดลูกค้าโดยตรง เชื่อสามารถปั้นยอดขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แตะ 100 ล้านบาท สู่การปั้มรายได้รวมปีนี้เพิ่ม 10-15% ตามแผน

        นางสาวติยาภรณ์ วนโกสุม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.ดับบลิว.เม็ททัล เวิร์ค จำกัด (มหาชน) หรือ KWMในฐานะผู้นำในการประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรและมีประสบการณ์ด้านงานวิศวกรรมเครื่องกล เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมการเกษตรในปี 2565 ยังคงมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีก่อน ประกอบกับปริมาณน้ำที่ยังคงมีเพียงพอสำหรับการทำเกษตร จึงส่งผลในเชิงบวกต่อภาคการเกษตร ดังนั้นมองว่าเป็นโอกาสการเติบโตทางธุรกิจของกลุ่มผู้ประกอบการการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ทางการเกษตร ซึ่งKWM ก็ได้รับอานิสงส์ดังกล่าวด้วย

        ทั้งนี้จากประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้ KWM ประเมินแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/2565 ว่า จากดีมานด์การฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มียอดคำสั่งซื้อกลับเข้ามาอย่างชัดเจน ประกอบกับบริษัทฯมีการสต็อกสินค้าไว้พร้อมสำหรับส่งมอบ โดยปัจจุบันบริษัทฯมีออดเดอร์ใบผาล เข้ามาแล้วอยู่ที่ประมาณ 50,000 ใบ ซึ่งถือว่ามากกว่าปกติที่จะผลิตได้ 30,000-40,000 ใบ โดยบริษัทฯมีความพร้อมในการส่งมอบสินค้าให้ครบในทุกคำสั่งซื้อ

        พร้อมกันนี้ ยังได้กล่าวยอมรับว่า บริษัทฯเตรียมสต็อกสินค้าไว้ตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อน เพื่อรองรับช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ ซึ่งหากมียอดคำสั่งซื้อเข้ามากว่าปกติ บริษัทฯมีสินค้าเพียงพอและพร้อมส่งมอบเต็มจำนวนอย่างแน่นอน ซึ่งสอดรับกับแผนกลยุทธ์สำหรับการรองรับการเติบโตทางธุรกิจ หลังจากที่บริษัทฯวางงบลงทุนไว้ 50 ล้านบาท ในการเพิ่มเครื่องจักรในการผลิตไลน์ใหม่ ซึ่งเป็นไลน์การผลิตที่ 3 ในระบบออโตเมชั่น ที่สามารถลดการใช้แรงงานและสามารถผลิตได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 1/2565

        ขณะเดียวกัน ยังมีแผนขยายการลงทุนในคลังสินค้า เพื่อรองรับความต้องการสินค้าช่วงไฮซีซั่น ที่มีความต้องการสินค้ามากกว่าช่วงเวลาปกติ 2-3 เท่าตัว ซึ่งคลังสินค้าดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2565 ดังนั้นจากปัจจัยดังกล่าวเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมทั้งด้านการลงทุน การผลิต และการส่งมอบออดเอร์ ที่ตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของลูกค้า

        “ปัจจัยหนุนที่ทำให้ยอดคำสั่งซื้ออุปกรณ์ทางการเกษตรเพิ่มขึ้น มาจากทั้งลูกค้าเดิมที่มีการซื้อซ้ำ ประกอบกับการมีลูกค้าใหม่ๆ เข้าเพิ่ม ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนหันมาทำการเกษตรมากขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ มีการปรับเปลี่ยนกระจายความเสี่ยง (Diversify) ไปในหลายธุรกิจมากขึ้น จึงทำให้มีการสั่งซื้ออุปกรณ์ทางการเกษตรเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”

        อย่างไรก็ตาม นางสาวติยาภรณ์ กล่าวตอกย้ำว่า แนวโน้มของผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี2565 มีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน หลังมีการสต็อกสินค้าและวัตถุดิบไว้แล้ว ประกอบกับการผลิตและจำหน่ายให้กับกลุ่มบริษัทการเกษตรชั้นนำ ได้แก่ บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ภายใต้แบรนด์ “ตราช้าง” นั้น บริษัทฯเตรียมพัฒนาผลิตภัณฑ์ในกลุ่มใบจอบหมุน (ใบโรตารี่) และใบเกลียวรุ่นใหม่ๆ เพื่อเข้าไปจำหน่ายเพิ่มเติม เนื่องจากในช่วงก่อนหน้านี้ บริษัท สยามคูโบต้า ได้มีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากต่างประเทศบางส่วน ซึ่งสยามคูโบต้า เล็งเห็นว่าหลังจากนี้จะให้ทาง KWM เป็นผู้ผลิตสินค้าดังกล่าวทดแทนจากนำเข้า ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อจากช่องทางนี้เพิ่มขึ้น

        ส่วนสินค้าภายใต้แบรนด์“Pegasus” ซึ่งเป็นตราสินค้าของบริษัทฯ เองที่ผลิตอุปกรณ์การเกษตร อาทิ ใบผาล ใบจักร ใบคัดท้าย โครงผาล ใบดันดิน ใบเกลียวลำเลียงนั้น ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ เตรียมบุกตลาดเพิ่มมากขึ้น เพื่อจำหน่ายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งการขยายช่องทางการจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์นั้น บริษัทฯมองว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นการขายตรงถึงผู้บริโภค (Consumer) แบบไม่มีผ่านคนกลาง ทำให้บริษัทฯตั้งเป้ายอดขายของบริษัทย่อยทั้งหมดโดยรวม ประมาณ 100ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 60 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20 % ของยอดขายรวม โดยบริษัทฯจะเน้นทำการตลาดผ่านแพลตฟอร์ม อาทิ Facebook, TikTok และ Lazada ประกอบกับมีการออกแคมเปญทางการตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยยอมรับว่า การจำหน่ายผ่านช่องทางดังกล่าวมีมาร์จิ้น สูงกว่าช่องทางอื่นๆ อย่างไรก็ตามจากแผนธุรกิจดังกล่าวส่งผลให้บริษัทฯประเมินอัตราการเติบโตรายได้รวมในปีนี้เพิ่มขึ้น 10 – 15% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม จำนวน 567.30 ล้านบาท


คลิปวิดีโอ