วันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2567 16:27น.

พัฒนา Gen Z แบบ “From Zero to Hero” จากค่ายเยาวชน Creative AI Camp สู่รากฐานพัฒนาประเทศ

28 มกราคม 2022

        กลุ่ม Gen Z เยาวชนที่ปัจจุบันยังอยู่ในวัยเรียนไปจนถึงกลุ่มเพิ่งเริ่มต้นทำงาน (First jobber) นับเป็นกำลังสำคัญที่จะเติบโตสู่การขับเคลื่อนประเทศในอนาคต การพัฒนา Gen Z ให้มีทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกในอนาคต จึงนับเป็นการสร้างรากฐานสำคัญสู่การพัฒนาประเทศ

        ค่าย Creative AI Camp ค่ายเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ ปวช. จัดโดย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL และพันธมิตร นับเป็นอีกค่ายหนึ่งที่มุ่งมั่นมอบทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทักษะด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนทักษะด้านการ “คิดภาพใหญ่” และคิดแบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning) ให้แก่กลุ่ม Gen Z จากไม่มีพื้นฐาน สู่การเป็นผู้ที่สร้างสรรค์ไอเดียพัฒนา AI ที่น่าสนใจและต่อยอดได้จริง หลังดำเนินงานจัดค่ายมา 4 ปี เหล่าพันธมิตรภาคเอกชน ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เพราะมองว่าการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้แก่เยาวชน เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

        กานต์ ประพฤติชอบ ผู้ก่อตั้ง Ambient Group ผู้ออกแบบ ผลิตซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่และกลไกทางด้านโรโบติกส์ หนึ่งในพันธมิตรจัดค่าย Creative AI Camp กล่าวว่า เยาวชนในปัจจุบันหรือกลุ่ม Gen Z เป็นกลุ่มที่เติบโตมาพร้อมกับโลกดิจิทัล (Digital Native) อยู่แล้ว มีขีดความสามารถที่อาจจะพัฒนาองค์กร พัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีได้ดียิ่งกว่าคนรุ่นก่อนหน้า การจะหล่อหลอมหรือพัฒนาเยาวชนกลุ่มนี้ ต้องให้ข้อมูลทั้งเชิงความรู้ ประสบการณ์ และแนวทางแก้ไขปัญหา เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ในปัจจุบัน ที่จะต้องเข้าไปช่วยเขาลับคม เพิ่มเติมประสบการณ์ Creative AI Camp ถือเป็นค่ายหนึ่งที่พยายามช่วยให้เด็กๆ แหลมคมมากขึ้น โดยนำโจทย์ที่องค์กรขนาดใหญ่เจอจริงๆ ในภาคธุรกิจ มาขัดเกลา เรียนรู้ด้านการนำ AI มาช่วยแก้ปัญหา

        “วันนี้ทุกคนพูดว่า ข้อมูล หรือ Data คือสินทรัพย์ใหม่ เทียบได้กับทอง เพชร น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติในอดีต ถ้าเรามี Data อย่างเดียว แต่วิเคราะห์ หรือทำ Data Analysis ไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ โลกยุคใหม่นั้น ทักษะ Data Analysis จะเทียบเท่ากับรถขุดเหมืองหรืออุปกรณ์เจียระไน ที่จะทำให้สินทรัพย์ใหม่ที่เรามีอยู่ในมือ กลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น และนี่คือหนึ่งในองค์ความรู้ที่เราต้องมอบให้กับเยาวชนเพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศ” กานต์ ระบุ

         ไพโรจน์ ร่วมวิบูลย์สุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอโนว์พลัส จำกัด ผู้พัฒนาโซลูชั่นสำหรับการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ดิจิทัล (Tech Enabler) หนึ่งในพันธมิตรจัดค่าย Creative AI Camp กล่าวว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะเยาวชนมีหลายอย่าง อาทิ โครงสร้างพื้นฐานและบริการพื้นฐานที่เอื้อต่อการเข้าถึงองค์ความรู้ของเยาวชน ความทันสมัยขององค์ความรู้ แต่ภาพรวมการพัฒนาเยาวชนด้านเทคโนโลยีในปัจจุบัน ยังมีช่องว่างหลายอย่าง เช่น ช่องว่างระหว่างองค์ความรู้ที่เรียนมาในระบบการศึกษากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด ทำให้เมื่อเยาวชนเรียนจบมา อาจมีองค์ความรู้ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคธุรกิจ หากต้องการขับเคลื่อนประเทศให้ได้ ต้องสร้างแนวทางให้เยาวชนสามารถเข้าถึงเทรนด์เทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อจะได้พัฒนาตัวเองไปได้อย่างถูกต้องด้วย โดยค่าย Creative AI Camp จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้แนวทางเทคโนโลยีที่เป็นที่ต้องการของธุรกิจและสังคมด้วย

        ทั้งนี้ ประเมินว่าในอนาคต AI จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทุกอุตสาหกรรม เช่น การเข้าไปสร้างความฉลาดให้กับสิ่งของจนกลายเป็น Device Intelligence การนำ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ ช่วยตัดสินใจ ให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ การพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาช่วยให้คำแนะนำในการตัดสินใจเสมือนบุคลากรเฉพาะทาง เช่น แพทย์เฉพาะทางที่มีอยู่จำกัด หากมีการพัฒนา AI โดยใช้องค์ความรู้จากแพทย์เฉพาะทาง จะช่วยสร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและวิชาชีพที่บุคลากรมีอยู่อย่างจำกัดได้

        ดร.ก้องเกียรติ หิรัญเกิด ผู้ก่อตั้ง ซันเพล็กซ์ กรุ๊ป บริษัทผู้พัฒนาผลงานด้าน AR และ VR หนึ่งในพันธมิตรจัดค่าย Creative AI Camp กล่าวว่า เด็กๆ Gen Z เป็นกลุ่มที่ฉลาดมาก สิ่งที่ต้องช่วยเข้าไปเติม คือการมองภาพรวม ให้เด็กๆ เข้าใจภาพกว้างของเทคโนโลยี กระบวนการทำงาน เทคโนโลยีแกนกลาง เช่น AI, Blockchain, Smart Contract, IoT ไม่ใช่แค่รู้ขั้นตอนว่าต้องทำอะไร แต่ต้องเข้าใจว่าทำไมต้องทำแบบนั้น ไม่ไปกำหนดจินตนาการของเขา ให้เขามีส่วนร่วมในการคิด แล้วเตรียมวัตถุดิบในการปรุงอาหารให้เขาอย่างครบถ้วน เพื่อที่เยาวชนจะสามารถเลือกวัตถุดิบไปปรุงเป็นข้าวต้ม ข้าวผัด หรืออาหารชนิดใดก็ได้ตามที่จินตนาการ

        “เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา Hard Disk มีขนาดเล็กลงหลายพันหลายหมื่นเท่า เก็บไฟล์ได้ใหญ่ขึ้นเป็นล้านเท่า ในปัจจุบันไปจนถึงอีก 10-20 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีจะยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด ทันทีที่เราหยุด คือเราถอยหลัง ทุกคนเดินแซงเราหมด เด็กๆ จึงต้องแม่นในการมองภาพรวม และตระหนักถึงเรื่อง Lifelong Learning เพื่อให้ปรับตัวทันโลกที่ AI จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราทุกด้านมากยิ่งขึ้น” ดร.ก้องเกียรติ กล่าว

        ที่ผ่านมา ซันเพล็กซ์ พยายามส่งเสริมให้ทั้งพนักงาน เด็กฝึกงาน ได้เรียนคอร์สออนไลน์ของสถาบันการศึกษาชั้นนำด้านเทคโนโลยีในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด, MIT, มหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ เพื่อให้ได้เรียนรู้องค์ความรู้ที่เป็นปัจจุบัน รวมถึงการเป็นพันธมิตรค่าย Creative AI Camp เพื่อส่งเสริมให้เด็กระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและ ปวช.ได้เรียนรู้ด้าน AI อย่างเต็มรูปแบบ

        ภาณิน เพียรโรจน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง OZT Robotics ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ AI ครบวงจรสำหรับองค์กร และหนึ่งในพันธมิตรจัดค่าย Creative AI Camp กล่าวว่า เยาวชน Gen Z ในวันนี้ จะกลายเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนองค์กร และขับเคลื่อนประเทศในวันข้างหน้า โดยเฉพาะด้านดิจิทัลที่ยังต้องการบุคลากรทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจำนวนมากในอนาคต ประเทศยังต้องการบุคลากรมาช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยีที่ต้องประยุกต์เข้ากับบริบทประเทศไทยหรือภาษาไทย เช่น การจดจำด้วยเสียง (Voice Recognition) การจดจำด้วยภาพ (Image Recognition)

        “ทักษะทางดิจิทัลจะเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับเยาวชนยุคใหม่ ไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดเป็นทุกคน แต่ต้องมีตรรกะทางเทคโนโลยี เข้าใจว่าทำไมคอมพิวเตอร์ถึงทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ เหมือนที่เราเข้าใจธรรมชาติว่าทำไมน้ำถึงเดือด เพื่อที่จะได้รู้ว่า จะนำไปต่อยอดอย่างไร” ภาณิน ย้ำ

        สำหรับค่าย Creative AI Camp จัดขึ้นโดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้ปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” มุ่งเน้นให้เหล่าเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติ ได้พัฒนาทักษะความสามารถจนกลายเป็น “คนพันธุ์ AI หัวใจโกะ” (CreativeAIness) วิถีความเป็นมนุษย์ AI สร้างสรรค์ สามารถสร้างสรรค์ AI ผสมผสานปรัชญาหมากล้อม เพื่อประโยชน์ของสังคม และกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการเปลี่ยนโลกในอนาคต โดยการจัดงานในปีที่ 4 นี้ มีพันธมิตรและวิทยากรมากกว่า 20 ราย อาทิ คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM), ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI จากบริษัท โกซอฟต์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไอโนว์พลัส จำกัด, SUNPLEX GROUP, Ambient Group, Data Scientist จากบริษัท AI ชั้นนำในญี่ปุ่น, Amazon Web Service (AWS) ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มคลาวด์และให้บริการระบบคลาวด์ระดับโลก และ บริษัท ทีเคเค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ให้บริการด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับงานบริการและอุตสาหกรรมแบบครบวงจร


คลิปวิดีโอ