ฟู้ดดีฮับ ชูโรงอาหารสายสุขภาพเจาะ ‘แพลนต์เบส’ รับเมกะเทรนด์อาหารโลก
ฟู้ดดีฮับ จับเมกะเทรนด์อาหารด้านสุขภาพ เผยทั่วโลกหันมาบริโภคอาหารกลุ่ม ‘แพลนต์เบส’ เพิ่มขึ้นส่งผลมูลค่าตลาดทั่วโลกเติบโต คาดปี 2567 โต 10% มีมูลค่าถึง 4.5 หมื่นล้านบาท ระบุเฉพาะตลาดเนื้อจากพืชเติบโตถึง 20 % มูลค่า 900 ล้านบาท ลุยทำตลาดในประเทศ ส่งเมนู ‘แพลนต์เบส’ เอาใจผู้บริโภคสายรักสุขภาพ สอดรับกับกระแสการดูแลสุขภาพในช่วงการแพร่ระบาดโควิด พร้อมส่งโปรส่วนลดพิเศษมอบให้กับลูกค้าผู้ชื่นชอบอาหารประเภท ‘แพลนต์เบส’ และจัดโปรชุดบัดดี้ เสิร์ฟให้กับลูกค้าซีฟู้ดเลิฟเวอร์ตลอดเดือนสิงหาคมนี้
นายชัยพัฒน์ คุณาภิวัฒน์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายขายประจำประเทศไทย ฟู้ดดีฮับ (FoodDeeHub) ภายใต้กลุ่มบริษัท สยาม คานาเดี่ยน กรุ๊ป จำกัด ผู้นำเข้าและส่งออกอาหารแช่แข็งระดับพรีเมี่ยมมากว่า 34 ปี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สร้างแนวคิดการบริโภคอาหารของผู้บริโภคยุคปัจจุบันบนมาตรฐานใหม่ (New Normal) และนำไปสู่เมกะเทรนด์ “อาหารแห่งอนาคต” (Future Food) เป็นการนำเสนออาหารจากโปรตีนทดแทนใหม่ๆ (New Protein Source) รวมทั้งโปรตีนจากพืช หรือแพลนต์เบส (Plant-Based Food) ซึ่งผลิตจากพืชตระกูลถั่ว เห็ด และสาหร่าย เพื่อมาทดแทนเนื้อสัตว์ ขณะนี้ถือว่าได้รับความนิยมในการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ตามกระแสผู้บริโภคที่ใส่ใจการรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและความปลอดภัยสูง เพื่อการดูแลสุขภาพที่ดี รวมทั้งยังให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
“ปัจจุบันมีผู้บริโภคจำนวนมากหันมาให้ความสำคัญและใส่ใจเรื่องการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น (Health-Conscious) ดังนั้นจึงทำให้เกิดอาหารทางเลือกแนวใหม่ๆ เพื่อมาตอบโจทย์ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ และอาหารแพลนต์เบส เป็นหนึ่งใน เทรนด์อาหารสุขภาพที่กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ด้วยปัจจัยทางด้านรสชาติที่มีความใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ และทำมาจากพืชเป็นหลัก จึงเหมาะกับการเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ” นายชัยพัฒน์ กล่าว
สำหรับอาหาร “แพลนต์เบส” (Plant-Based Food) หรือนวัตกรรมอาหารที่ให้โปรตีนจากพืช เกิดขึ้นมาในประเทศไทยได้ราว 2 ปีเท่านั้น แต่ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากกลุ่มคนรักสุขภาพ ผู้ทานมังสวิรัติ (Vegetarians) กลุ่มผู้ทานอาหารวีแกน (Vegans) และผู้คนที่ทั่วไปที่ต้องการลดการทานเนื้อสัตว์ในบางโอกาส (Flexitarians) ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ต้องการการใส่ใจดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ อีกทั้งยังถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและแนวโน้มการเติบโตที่สูง โดยมีปัจจัยบวกจากผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพ และมีผู้ประกอบการเข้ามาทำตลาดนี้เพิ่มขึ้น ส่งผลดีกับผู้บริโภคที่จะได้มีกลุ่มอาหารที่หลากหลายให้ได้เลือกรับรับประทาน
จากข้อมูลการสำรวจตลาดผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสในประเทศไทยยังมีโอกาสการเติบโตอีกมาก โดยอ้างอิงข้อมูลจาก Euromonitor และ Allied Market Research ระบุมูลค่าตลาดอาหารแพลนต์เบส (Plant-based Foods) ในปี 2562 มีมูลค่าอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 4.5 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 10% นอกจากนี้ยังระบุว่าเฉพาะตลาดเนื้อสัตว์จากพืช หรือ Plant-based Meat เติบโต 20% หรือเท่ากับ 900 ล้านบาท ทั้งนี้คาดว่าจากการเข้ามาของผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายเล็กในช่วงของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จะยิ่งเป็นตัวเร่งให้ตลาดเติบโตขึ้น