วันพุธ ที่ 27 พฤศจิกายน 2567 07:46น.

ไนท์แฟรงค์ฯ เผยภาพรวมตลาดโรงแรมระดับลักชัวรี่และอัพสเกลในภูเก็ต ปี 64 และแนวโน้มปี 65

25 มกราคม 2022

        มร.คาร์ลอส มาร์ติเนซ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า การท่องเที่ยวขาเข้าของภูเก็ตซบเซาลงไปอีกในปี 2564 โดยลดลงมาตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจากมาตรการด้านข้อจำกัดการเดินทาง ซึ่งจำนวนผู้โดยสารขาเข้าจากต่างประเทศแตะระดับสูงสุดที่ 5.3 ล้านคนในปี 2562 และลดลงไป 80% ปีต่อปี เหลือเพียง 1.1 ล้านคนในปี 2563 ท่าอากาศยานไทยได้บันทึกปริมาณผู้โดยสารจากต่างประเทศโดยมีจำนวนน้อยกว่า 190,000 คนในปี 2564 ลดลงไป 83% ปีต่อปี แม้ว่าผู้โดยสารขาเข้าในช่วงครึ่งปีหลังมีปริมาณเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ได้จากสองโครงการคือ โครงการ ‘Phuket Sandbox’ ในเดือนกรกฎาคม 2564 และโครงการ ‘Test & Go’ ในเดือนพฤศจิกายน 2564

        ภูเก็ตเป็นจังหวัดแรกในประเทศไทยที่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาโดยไม่ต้องผ่านการกักตัวภายใต้โครงการ ‘Phuket Sandbox’ ในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยมีนักท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ 15,200 คนต่อเดือน นับเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากเดิมที่มีเพียงหลักร้อยในช่วงครึ่งปีแรก นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นมากถึงสี่เท่าหลังรัฐบาลเปิดตัวโครงการ ‘Test & Go’ ซึ่งเป็นการเดินทางโดยไม่ต้องกักตัวในเดือนพฤศจิกายน 2564 ก่อนระงับโครงการดังกล่าวหลังจากผ่านไปเพียง 7 สัปดาห์เนื่องจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน

        อุปทานและอุปสงค์

        โรงแรมในภูเก็ตพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอย่างมาก ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดที่ย่ำแย่และนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่สามารถเดินทางได้ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกปี 2564 โรงแรมบางแห่งยังคงปิดให้บริการชั่วคราว และผู้ประกอบการโรงแรมรายอื่นๆ ปรับรูปแบบธุรกิจและเน้นไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวภายในประเทศ นำเสนอโปรโมชั่นหลากหลาย โดยรวมไปถึงส่วนลดด้านค่าอาหารและที่พัก และแคมเปญต่างๆ บนสื่อโซเชียลมีเดีย

        ค่าห้องเฉลี่ยต่อวันของโรงแรมระดับลักชัวรี่และระดับอัพสเกลลดลงไป 35% ปีต่อปี อยู่ที่ 2,442 บาท และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยลดลง 14% ปีต่อปี อยู่ที่ 12% ในปี 2564 อย่างไรก็ตามตลาดโรงแรมปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยอัตราการเข้าพักเพิ่มเป็นสองเท่าและค่าห้องเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับในช่วงครึ่งปีแรก เป็นผลมาจากโครงการเดินทางโดยไม่ต้องกักตัวของรัฐบาล

        ณ สิ้นปี 2564 อุปทานโดยรวมของโรงแรมระดับลักชัวรี่และระดับอัพสเกลมีจำนวนห้องพัก 23,565 ห้อง เพิ่มขึ้น 3% ปีต่อปีบ่งชี้ว่านักลงทุนและผู้ประกอบการโรงแรมยังคงความเชื่อมั่นในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบริการ โดยโรงแรมเปิดใหม่ในกลุ่มลักชัวรี่และกลุ่มอัพสเกลในปี 2564 ได้แก่ อวานี พลัส ไม้ขาว ภูเก็ต (100 ห้อง), มีเลีย ภูเก็ต ไม้ขาว (164 ห้อง), ฮิลตัน การ์เดน อินน์ ภูเก็ต บางเทา (177 ห้อง) และฮอลิเดย์ อินน์ วานา นาวา ภูเก็ต (300 ห้อง) ในขณะที่โรงแรมบางแห่งเลื่อนการเปิดตัวออกไปในปี 2565 เนื่องจากตลาดยังซบเซา นอกจากนี้คาดว่าจะมีห้องพักเปิดใหม่ประมาณ 5,000 ห้องในภูเก็ตในปี 2565

        อุปทานห้องพักโรงแรมในภูเก็ตที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในหาดป่าตอง (25%) ตามมาด้วยกะรน (18%) บางเทา (12%) กะตะ (11%) และกมลา (11%)

        แนวโน้ม

        แนวโน้มในการฟื้นตัวในช่วงไฮซีซั่นในระหว่างสองเดือนสุดท้ายของปี 2564 ด้วยการจัดทำโครงการ ‘Test & Go’ นั้นต้องหยุดชะงักลงท่ามกลางจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นครั้งที่ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์โอไมครอน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในภูเก็ตรายวันเพิ่มขึ้นจากจำนวนเฉลี่ย 500 คน หลังจากเปิดโครงการ ‘Phuket Sandbox’ ในเดือนกรกฎาคม 2564 เป็น 1,200 ในเดือนพฤศจิกายน แตะระดับสูงสุดที่ 2,800 คนในเดือนธันวาคมภายใต้โครงการ ‘Test & Go’ แต่ยังห่างไกลจากค่าเฉลี่ย 14,800 คนในปี 2562 ในช่วงก่อนโควิด

        นักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็น 74% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมดในช่วงก่อนโควิด-19 กลุ่มนักท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ จีน โดยคิดเป็น 32% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ตามมาด้วยยุโรป (29%) รัสเซีย (9%) และโอเชียเนีย (6%) โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นแรงขับเคลื่อนตลาดที่สำคัญในภูเก็ต ซึ่งหายไปตั้งแต่ต้นปี 2563 และคาดว่าจะมีผลไปจนถึงปี 2565 เนื่องจากยังมีมาตราการด้านข้อจำกัดการเดินทางออกนอกประเทศภายใต้นโยบายปลอดโควิด (zero-Covid policy) จากรัฐบาลจีน

        นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องของการแจ้งเตือนการเดินทางระยะสั้นและกฎระเบียบการกักตัวที่ไม่ชัดเจน ไม่ช่วยเรียกความมั่นใจของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวจากโซนยุโรปที่มักวางแผนการเดินทางล่วงหน้าถึง 2-3 เดือน ดังนั้น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 การท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวภายในประเทศจะยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของภูเก็ต

        เรามองในแง่ดีในด้านการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมในภูเก็ตอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากสถานการณ์ของโรคระบาดยังคงคาดเดาไม่ได้ แต่ยังคงมีปัจจัยเชิงบวกหลายประการ ทั้งอัตราการกระจายของผู้ที่ได้รับวัคซีนในประเทศไทยและอาการของผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงนัก ความต้องการทางการเดินทางของนักท่องเที่ยว และความสนับสนุนจากรัฐบาลในโครงการ ‘Phuket Sandbox’ และแผนการท่องเที่ยวที่ได้รับเงินอัดฉีดเพื่อกระตุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวภายในประเทศ

        ในปี 2565 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมระดับลักชัวรี่และระดับอัพสเกลอาจเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระหว่าง 20%-30% หากมาตราการด้านข้อจำกัดการเดินทางผ่อนคลายลงในช่วงต้นปี 2565 ตลาดฟื้นตัวอย่างช้าๆ เพราะกลุ่มหลักจากชาวจีน ยังคงมีข้อจำกัดหลายอย่าง และจำนวนของห้องพักโรงแรมที่กลับมาเปิดให้บริการเพิ่มขึ้น รวมถึงการเปิดตัวของโรงแรมใหม่ๆ


คลิปวิดีโอ