วันอังคาร ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 16:59น.

EIC จับตา 2 ความเสี่ยงสำคัญต่อหนี้ครัวเรือน ผลกระทบ Omicron และปัญหาหนี้นอกระบบที่กำลังเร่งตัว

18 มกราคม 2022

        ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ณ ไตรมาส 3 ปี 2021 อยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ 4.2%YOY ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ระดับ 89.3% ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยยังถือว่าอยู่ในระดับสูง

        การขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือนจากระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ชะลอลงในทุกหมวดสินเชื่อสำคัญ อย่างไรก็ดี สินเชื่อส่วนบุคคลยังคงขยายตัวในระดับสูง
ตามความต้องการสภาพคล่องเพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลงที่ยังมีมาก

        ปัญหาหนี้นอกระบบของภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเร่งตัวสูง จากกลุ่มครัวเรือนที่มีความต้องการสินเชื่อเพื่อนำมาใช้จ่ายแต่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยที่มีความเปราะบางอยู่แล้ว

        สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2022 นี้ โดยปัจจัยเสี่ยงสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Omicron ที่จะกระทบรายได้ครัวเรือนและทำให้ความต้องการสินเชื่อเพื่อทดแทนสภาพคล่องกลับมาเพิ่มสูงอีกครั้ง ส่งผลทำให้กระบวนการซ่อมแซมงบดุลของภาคครัวเรือนมีอุปสรรค และสถานะทางการเงินภาคครัวเรือนจะกลับมาฟื้นตัวได้ช้าลง ซึ่งจะกระทบต่อเนื่องไปถึงแนวโน้มการใช้จ่ายและคุณภาพสินเชื่อของภาคครัวเรือน

        ด้วยเหตุนี้มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ การเยียวยาด้านรายได้ การสนับสนุนการจ้างงาน และการปรับทักษะแรงงาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการหารายได้ รวมถึงการสนับสนุนด้านสภาพคล่องเพื่อป้องกันปัญหาหนี้นอกระบบจะยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับภาคครัวเรือนไทยที่ยังมีความเปราะบางสูง

       อ่านเพิ่มเติมได้จากบทวิเคราะห์จากเว็บไซต์ EIC …https://www.scbeic.com/th/detail/product/8050


คลิปวิดีโอ