เอสซีจี เคมิคอลส์ แถลงความคืบหน้าธุรกิจ Green Polymer พอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยล่าสุด 4 บริษัทในเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้รับการรับรองมาตรฐานคาร์บอนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศ “ISCC PLUS” โดย International Sustainability and Carbon Certification (ISCC) ถือเป็นรายแรกของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยที่ ISCC ให้การรับรองมาตรฐานฯ ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (whole supply chain) จึงมั่นใจได้ว่าพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงจากเอสซีจี เคมิคอลส์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการจัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมทั้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งนอกจากจะช่วยตอบโจทย์ ESG (Environmental, Social and Governance) เพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมให้กับโลกแล้ว ยังตอบโจทย์ธุรกิจ เจ้าของแบรนด์สินค้า และผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมด้วย
ทั้งนี้ บริษัทในเอสซีจี เคมิคอลส์ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความยั่งยืนชั้นนำระดับโลก ได้แก่ บริษัท เซอร์คูลาร์ พลาส จำกัด บริษัท อาร์ ไอ แอล 1996 จำกัด บริษัท มาบตาพุดโอเลฟินส์ จำกัด และ บริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ซึ่งทั้ง 4 บริษัท อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของกระบวนการผลิตพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง SCG GREEN POLYMERTM
นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ เผยว่า “เอสซีจี เคมิคอลส์ เดินหน้าขยายธุรกิจด้าน Circular Economy มาอย่างต่อเนื่องตามทิศทางองค์กรที่มุ่งสู่ ‘ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อความยั่งยืน’ (Chemicals Business for Sustainability) เพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ทางธุรกิจ รวมทั้งตอบโจทย์ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติ และแนวทาง ESG (Environmental, Social, and Governance) การได้รับการรับรองมาตรฐาน ISCC PLUS ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (whole supply chain) ของบริษัทในเอสซีจี เคมิคอลส์ ถือเป็นรายแรกของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทย ซึ่งเป็นไปตามแผนโรดแมปด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของบริษัทฯ โดยมาตรฐานคาร์บอนและการพัฒนาอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศ หรือ ISCC PLUS นี้ จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าและผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมในด้านคุณภาพของพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงจากเอสซีจี เคมิคอลส์
ทั้งนี้ การรับรองมาตรฐาน ISCC PLUS ตลอดห่วงโซ่อุปทานของการผลิตพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงนั้น เริ่มตั้งแต่การจัดหาและรวบรวมพลาสติกใช้แล้ว โดยบริษัท อาร์ ไอ แอล 1996 จำกัด และส่งต่อเข้ากระบวนการ Advanced Recycling ซึ่งเป็นการนำพลาสติกใช้แล้วมาผลิตเป็นวัตถุดิบตั้งต้น หรือ Recycled Feedstock สำหรับธุรกิจปิโตรเคมี โดยบริษัท เซอร์คูลาร์ พลาส จำกัด และนำเข้าสู่กระบวนการผลิตเม็ดพลาสติก โดยบริษัท มาบตาพุดโอเลฟินส์ จำกัด และบริษัท ไทยโพลิเอททีลีน จำกัด ทำให้ได้เม็ดพลาสติกที่ผลิตโดยกระบวนการรีไซเคิลตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกกระบวนการและสอบกลับสมดุลมวล (Mass Balance Approach) ในทุกขั้นตอนตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
“พลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงที่ได้จากกระบวนการผลิตนี้ จึงตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าของแบรนด์สินค้าชั้นนำที่มองหาวัสดุพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และตอบสนองกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน” นายธนวงษ์ กล่าวทิ้งท้าย