วันพุธ ที่ 27 พฤศจิกายน 2567 03:26น.

สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยใน EEC ไตรมาส3 ปี64 อุปทานและอุปสงค์ 9 เดือนแรก หดตัวลงอย่างชัดเจน

23 ธันวาคม 2021

        ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รายงานสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัด EEC ทั้งนี้ผลกระทบจากสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ -0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองของปี 2564 ที่มีการขยายตัวร้อยละ 7.6 โดยเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เป็นระลอกที่สี่จากสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น และรัฐบาลมีการควบคุมการดำเนินธุรกิจบางประเภท รวมถึงจำกัดการเดินทางเข้า-ออกในบางจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ซึ่งส่งผลให้ทางด้านสาขาก่อสร้างปรับตัวลดลงร้อยละ -4.1 เมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นการลดลงทั้งในการก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชน

        ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งพบว่าการก่อสร้างภาครัฐลดลงร้อยละ -6.2 เมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า และการก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ -0.5 ซึ่งลดต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่แล้ว โดยเป็นผลมาจากการลดลงต่อเนื่องของการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และสาขาการผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ -1.4 เมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 16.9 ในไตรมาสก่อนหน้า

        ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่าสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่จังหวัด EEC ซึ่งเป็นจังหวัดในกลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เช่นกัน ก็มีการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3 ปี 2564 ทั้งมิติของอุปทานด้านการออกใบอนุญาตสรรที่ดิน พบว่าต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี หรือในรอบ 34 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2556 และการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยในไตรมาส 3 ปี 2564 ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีแต่มีทิศทางดีขึ้นโดยในไตรมาส 3 การออกใบอนุญาตก่อสร้างเริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยโดยเป็นบวกร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบจากไตรมาสก่อนหน้า

        ในมิติอุปสงค์ด้านการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย พบว่าจำนวนหน่วยลดลงอย่างต่อเนื่องเป็น ไตรมาสที่สิบ นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2562 ที่เริ่มประกาศใช้มาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม – กันยายน) มีอัตราการขยายตัวติดลบในไตรมาส 1 ร้อยละ -2.6 ขณะที่ไตรมาส 2 มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 แต่เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ต่ำผิดปกติในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ไตรมาส 3 กลับมาติดลบอีกครั้งร้อยละ -0.3 ส่งผลให้ทั้งอุปทานและอุปสงค์ของตลาดที่อยู่อาศัยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม – กันยายน) หดตัวลงอย่างชัดเจน โดยอุปทานการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินลดลงทั้งจำนวนโครงการและจำนวนหน่วย ร้อยละ -31.3 และร้อยละ -34.6 ตามลำดับ แต่ด้านการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 โดยมีข้อสังเกตว่าเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำผิดปกติในช่วงเวลาเดียวกัน ของปี 2563 ส่วนด้านอุปสงค์การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าร้อยละ -18.3 และร้อยละ -16.3 ตามลำดับ

        สำหรับภาพรวมทั้งปี 2564 แม้มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่ยังมีปัจจัยบวกที่สำคัญคือภาวะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดต่ำมาก รวมถึงการที่รัฐบาลได้ขยายระยะเวลามาตรการกระตุ้นภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และการจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทไปจนถึงสิ้นปี 2564 และลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหลือร้อยละ 10 ซึ่งเป็นมาตรการที่จะช่วยลดภาระของผู้ซื้อและผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

        นอกจากนี้การที่ธนาคารแห่งประเทศได้ประกาศผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ยืดเยื้อมาถึงเกือบ 2 ปี นับเป็นปัจจัยที่มีส่วนทำให้ยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในจังหวัด EEC ลดลงไม่รุนแรงตามที่คาดการณ์กันไว้ตั้งแต่ต้นปี

        รวมถึงการที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการเปิดประเทศในต้นเดือนธันวาคม 2564 โดยจังหวัดชลบุรี และระยองเป็นพื้นที่สีฟ้านำร่องการท่องเที่ยว และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 จะขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 1.2 ปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการลดลงร้อยละ -6.1 ในปี 2563

        ดังนั้น จากทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่กล่าวมา ศูนย์ข้อมูลฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2564 สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC ในด้านอุปทานการขอใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน จะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -31.3 ถึง -16.0 การขอใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -9.1 ถึง 11.2 ส่วนด้านอุปสงค์ในปี 2564 คาดการณ์ว่า หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -30.3 ถึง -14.8 แต่จำนวนมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยคาดว่าจะมีอัตราขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ -18.3 ถึง -0.1 เนื่องจากราคาที่อยู่อาศัยต่อหน่วยปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2563

        สำหรับสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC ไตรมาส 3 ปี 2564 และ 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม – กันยายน) มีดังนี้

        1. สถานการณ์ด้านอุปทานที่อยู่อาศัย

        1.1 การออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดิน

        ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 มีโครงการที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินจากกรมที่ดินจำนวน 28 โครงการ 2,575 หน่วย จำนวนโครงการลดลงร้อยละ -46.2 และมีจำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -59.5เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมี 52 โครงการ 6,358 หน่วย จะเห็นว่าในไตรมาสนี้ทั้งจำนวนโครงการและจำนวนหน่วยยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ถึงร้อยละ -44.0 และร้อยละ -54.8 ตามลำดับ และหากเปรียบเทียบกับข้อมูลย้อนหลัง พบว่า ไตรมาส 3 ปี 2564 เป็น ไตรมาสที่มีจำนวนหน่วยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินในจังหวัด EEC ต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี หรือในรอบ 34 ไตรมาส นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งมีจำนวน 4,043 หน่วย (ดูแผนภูมิที่ 1 และ 2)


        สำหรับ ใน 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม – กันยายน) มีโครงการที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุญาตจัดสรรที่ดินจากกรมที่ดินจำนวน 99 โครงการ 9,665 หน่วย ลดลงทั้งจำนวนโครงการและจำนวนหน่วย โดยลดลงร้อยละ -31.3 และร้อยละ -34.6 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมี 144 โครงการ 14,767 หน่วย (แผนภูมิที่ 3 )

        ในจำนวน 9,665 หน่วย โดยส่วนใหญ่ออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินเป็นทาวน์เฮ้าส์มากที่สุด จำนวน 4,872 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50.4 ของจำนวนการออกใบอนุญาตจัดสรรที่ดินทั้งหมด แต่ลดลงร้อยละ -37.4 รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยวจำนวน 2,425 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 25.1 ลดลงร้อยละ-37.3 และบ้านแฝดจำนวน 2,234 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.1 ลดลงร้อยละ -22.8 ส่วนที่เหลือเป็น อาคารพาณิชย์ และที่ดินจัดสรร ตามลำดับ (ดูแผนภูมิที่ 3 )

        1.2 การออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัย

        ด้านการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัย ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC ทั้งที่เป็นบ้านที่ประชาชนสร้างเอง บ้านในโครงการจัดสรร และอาคารชุด มีจำนวนประมาณ 8,362 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 แต่ถึงอย่างไรการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยในไตรมาส 3 ปี 2563 ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีก่อนเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ถึงร้อยละ -21.7 โดยแบ่งออกเป็นการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบจำนวนประมาณ 6,374 หน่วย และอาคารชุด จำนวนประมาณ 1,988 หน่วย ซึ่งที่อยู่อาศัยแนวราบมีการออกใบอนุญาตลดลงร้อยละ -5.8 แต่อาคารชุดมีการออกใบอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 223.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 (ดูแผนภูมิที่ 4 และ 5)

        สำหรับใน 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม – กันยายน) มีการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC ทั้งที่เป็นบ้านที่ประชาชนสร้างเอง บ้านในโครงการจัดสรร และอาคารชุด มีจำนวนประมาณ 25,411 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 แบ่งออกเป็นการออกใบอนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบจำนวนประมาณ 20,269 หน่วย และอาคารชุด จำนวนประมาณ 5,142 หน่วย ซึ่งที่อยู่อาศัยแนวราบมีการออกใบอนุญาตลดลงร้อยละ -3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 แต่อาคารชุดมีการออกใบอนุญาตก่อสร้างเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 116.3 แต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานที่ต่ำผิดปกติในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 (ดูตารางที่ 1)

        2. ด้านอุปสงค์ที่อยู่อาศัย

        2.1 การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย

        ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2564 มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC จำนวน 10,087 หน่วย มีมูลค่า 23,372 ล้านบาท จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -13.8 โดยเป็นลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สิบ นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2562 ที่เริ่มมีมาตรการ LTV ของธนาคารแห่งประเทศออกมาควบคุมในเดือนเมษายน 2562 และต่อเนื่องมาในปี 2563 ถึงไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ถึงสี่ระลอกด้วยกัน และมูลค่าลดลงร้อยละ -13.1 โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สี่ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 มีจำนวน 11,698 หน่วย และมูลค่า 26,907 ล้านบาท

        ทั้งนี้ในไตรมาส 3 ปี 2564 มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบมากที่สุด จำนวน 7,920 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.5 ของหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ลดลงร้อยละ -12.5 และมีมูลค่าลดลงร้อยละ -10.9 หรือมีมูลค่า 18,404 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่มีจำนวน 9,052 หน่วย และมีมูลค่า 20,644 ล้านบาท ส่วนอาคารชุด มีจำนวน 2,167 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 21.5ลดลงร้อยละ -18.1 และมีมูลค่าลดลงร้อยละ -20.7 หรือมีมูลค่า 4,968 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่มีจำนวน 2,646 หน่วย และมีมูลค่า 6,263 ล้านบาท (ดูแผนภูมิที่ 6 และ 7)

        สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ (หรือที่อยู่อาศัยที่โอนจากนิติบุคคล) มีจำนวน 5,335 หน่วย และโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมือสอง (ที่อยู่อาศัยที่โอนจากบุคคลธรรมดา) มีจำนวน 4,752 หน่วย ทำให้สัดส่วนจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ต่อที่อยู่อาศัยมือสองในไตรมาส 3 ปี 2564 เท่ากับ 53 : 47 ขณะที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ของที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ มีจำนวน 13,486 ล้านบาท และมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมือสองมีจำนวน 9,886 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนมูลค่าที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ต่อมูลค่าที่อยู่อาศัยมือสองเท่ากับ 58 : 42

        สำหรับใน 9 เดือนแรกปี 2564 (มกราคม – กันยายน) มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยใน 3 จังหวัด EEC จำนวน 26,339 หน่วย มีมูลค่า 61,195 ล้านบาท จำนวนหน่วยและมูลค่าลดลง ร้อยละ -18.3 และร้อยละ -16.3 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 มีจำนวน 32,248 หน่วย และมูลค่า 73,115 ล้านบาท

        โดยในจำนวนดังกล่าวมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประเภทที่อยู่อาศัยแนวราบมากที่สุด จำนวน 19,203 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 72.9 ของหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด ลดลงร้อยละ -22.4 และมีมูลค่าลดลงร้อยละ -18.2 หรือมีมูลค่า 45,531 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่มีจำนวน 24,750 หน่วย และมีมูลค่า 55,630 ล้านบาท ส่วนอาคารชุด มีจำนวน 7,136 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.1 มีมูลค่า 15,664 ล้านบาท ลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า ร้อยละ -4.8 และร้อยละ -10.4 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมีจำนวน 7,498 และมีมูลค่า 17,485 ล้านบาท (ดูตารางที่ 2)

        นอกจากนี้ยังพบว่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย แบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ประเภทบ้านสร้างใหม่ (หรือที่อยู่อาศัยที่โอนจากนิติบุคคล) มีจำนวน 14,032 หน่วย และโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมือสอง (ที่อยู่อาศัยที่โอนจากบุคคลธรรมดา) มีจำนวน 12,307 หน่วย ทำให้สัดส่วนจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ต่อที่อยู่อาศัยมือสองใน 9 เดือนแรกของปี 2564 เท่ากับ 53 : 47

        ขณะที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ของที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ มีจำนวน 35,602 ล้านบาท และมูลค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยมือสอง มีจำนวน 25,593 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนมูลค่าที่อยู่อาศัยสร้างใหม่ต่อมูลค่าที่อยู่อาศัยมือสองเท่ากับ 58 : 42

        สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์แนวราบใน 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม – กันยายน) ของ 3 จังหวัด EEC ในด้านจำนวนหน่วย พบว่า เป็นการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่ (หรือบ้านสร้างใหม่ที่โอนจากนิติบุคคล) มีจำนวน 9,119 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 24,291 ล้านบาท และโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสอง (บ้านมือสองที่โอนจากบุคคลธรรมดา) มีจำนวน 10,084 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 21,240 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่ต่อที่อยู่อาศัยมือสองใน 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม – กันยายน) เท่ากับ 47 : 53 ขณะที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ของบ้านสร้างใหม่ต่อบ้านมือสองมีสัดส่วน 53 : 47

        ในจำนวนหน่วยนี้เมื่อจำแนกตามระดับราคา พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาทมากที่สุด มีจำนวน 7,027 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 36.6 ของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์แนวราบทั้งหมด โดยแบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่จำนวน 3,992 หน่วย บ้านมือสองจำนวน 3,035 หน่วย รองลงเป็นระดับราคา 1.51 – 2.00 ล้านบาท มีจำนวน 4,581 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.9 โดยแบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่จำนวน 2,203 หน่วย บ้านมือสองจำนวน 2,378 หน่วย และเป็นระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท มีจำนวน 2,649 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.8 โดยแบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่จำนวน 1,740 หน่วย บ้านมือสองจำนวน 909 หน่วย ตามลำดับ

        เมื่อพิจารณาจากมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในระดับดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาทมากที่สุด มีจำนวน 17,407 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.2 ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์แนวราบทั้งหมด โดยแบ่งเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่จำนวน 9,873 ล้านบาท บ้านมือสองจำนวน 7,533 ล้านบาท รองลงเป็นระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท มีจำนวน 10,067 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.1 โดยแบ่งเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่จำนวน 6,641 ล้านบาท บ้านมือสอง

        จำนวน 3,427 ล้านบาท และเป็นระดับราคา 1.51 – 2.00 ล้านบาท มีจำนวน 8,174 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.0 โดยแบ่งเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์บ้านสร้างใหม่จำนวน 3,930 ล้านบาท บ้านมือสองจำนวน 4,244 ล้านบาท ตามลำดับ (ดูแผนภูมิที่ 8 และ 9)

        สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดใน 9 เดือนแรกของปี 2564 ของ 3 จังหวัด EEC ในด้านจำนวนหน่วย พบว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่มีจำนวน 4,913 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 11,311 ล้านบาท และโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดมือสอง มีจำนวน 2,223 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 4,353 ล้านบาท ทำให้สัดส่วนจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่ต่ออาคารชุดมือสองใน 9 เดือนแรกของปี 2564 (มกราคม – กันยายน) เท่ากับ 69 : 31 ขณะที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ของอาคารชุดสร้างใหม่ต่ออาคารชุดมือสองมีสัดส่วน 72 : 28

        ในจำนวนหน่วยนี้เมื่อจำแนกตามระดับราคา พบว่าส่วนใหญ่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในระดับดับราคา 1.51 – 2.00 ล้านบาทมากที่สุด มีจำนวน 2,228 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.2 ของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดทั้งหมด โดยแบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่จำนวน 1,860 หน่วย อาคารชุดมือสองจำนวน 368 หน่วย รองลงเป็นระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท มีจำนวน 1,490 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.9 โดยแบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่จำนวน 1,095 หน่วย อาคารชุดมือสองจำนวน 395 หน่วย และเป็นระดับราคาไม่เกิน 1.01 – 1.50 ล้านบาท มีจำนวน 1,318 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.5 โดยแบ่งเป็นการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่จำนวน 770 หน่วย อาคารชุดมือสองจำนวน 548 หน่วย ตามลำดับ

        ถ้าพิจารณาจากมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ พบว่าส่วนใหญ่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในระดับดับราคา 1.51 – 2.00 ล้านบาทมากที่สุด มีจำนวน 3,805 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.3 ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดทั้งหมด โดยแบ่งเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่จำนวน 3,172 ล้านบาท อาคารชุดมือสองจำนวน 633 ล้านบาท รองลงเป็นระดับราคา 2.01 – 3.00 ล้านบาท มีจำนวน 3,655 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.3 โดยแบ่งเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่จำนวน 2,695 ล้านบาท อาคารชุดมือสองจำนวน 959 ล้านบาท และเป็นระดับราคา 3.01 – 5.00 ล้านบาท มีจำนวน 2,588 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.5 โดยแบ่งเป็นมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดสร้างใหม่จำนวน 2,045 ล้านบาท อาคารชุดมือสองจำนวน 543 ล้านบาท ตามลำดับ (ดูแผนภูมิที่ 10 และ 11)


คลิปวิดีโอ