วันจันทร์ ที่ 21 ตุลาคม 2567 02:41น.

ความจำเป็นและแนวทางการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมไฟฟ้าไทยสู่เป้าหมาย NET ZERO

2 ธันวาคม 2021

        ภาคการผลิตไฟฟ้าเป็นต้นกำเนิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ คิดเป็นราว 30% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก การเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมไฟฟ้าไปสู่การใช้พลังงานที่สะอาดขึ้น จึงเป็นกระบวนการสำคัญที่จะผลักดันให้โลกมุ่งสู่เป้าหมาย net zero เพื่อลดผลกระทบจาก climate change โดยอาศัยกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และคลีนเทคที่ต้นทุนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

        การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลไม่ใช่การลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำอีกต่อไป เนื่องจากโครงการต้องเผชิญความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายรวมถึงกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นขึ้น จนอาจนำไปสู่การเป็นสินทรัพย์ที่ลงทุนไปแล้วไม่ได้ใช้งาน (stranded asset)

        อุตสาหกรรมไฟฟ้าไทยไม่อาจหลีกเลี่ยง Energy Transition ได้เช่นกัน เนื่องจากมีแรงผลักดันเพื่อทำตามเป้าหมายในระดับประเทศที่ไทยได้ประกาศไว้ ณ COP26 ว่าจะเป็น net zero ภายในปี 2065 รวมถึงแรงผลักดันของภาคเอกชนที่ต้องการทำตามเป้า net zero ในระดับองค์กรของตนเอง อีกทั้ง เผชิญแรงกดดันจากนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มที่จะเข้มข้นขึ้น

        ภายในทศวรรษหน้า ไทยต้องเพิ่มการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดขึ้นอย่างมาก เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศในกรณีที่ประเทศคู่ค้าใช้นโยบายปรับคาร์บอน ซึ่งจะรวมผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าไปเป็นต้นทุนสินค้า โดยหากสินค้าไทยถูกปรับคาร์บอนน้อยกว่าคู่แข่งจากการที่ไฟฟ้าของไทยมีสัดส่วนพลังงานที่สะอาดสูงกว่า ย่อมเป็นแต้มต่อให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันได้ในตลาดของประเทศคู่ค้า

        การที่ไทยมีความมั่นคงในด้านกำลังการผลิตไฟฟ้าสูง จะช่วยให้ประเทศสามารถให้ความสำคัญกับการลงทุนและปรับนโยบายเพื่อรองรับ energy transition ได้ โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและการเร่งลงทุนในสมาร์ตกริด รวมถึงการปรับนโยบายที่ไม่ยืดหยุ่นจากการมีสัญญาผูกพันระยะยาว และเร่งปรับนโยบายที่เกี่ยวข้องกับด้าน 1) การจัดหาไฟฟ้าเพื่อลด grid emission factor (ค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตพลังงานไฟฟ้า) 2) การสร้างกลไกตลาดเพื่อส่งผ่านต้นทุนอย่างโปร่งใส และ 3) การสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด

        การออกแบบนโยบาย สร้างกลไกตลาด และนำคลีนเทคมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ จะเป็นกุญแจสำคัญของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและประเทศไทยเพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero ตามที่ได้ประกาศไว้ต่อประชาคมโลก ซึ่งไม่เพียงมีผลดีด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างความสามารถด้านการแข่งขันของประเทศอีกด้วย

        คลีนเทคมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการผลิตไฟฟ้า ทำให้เกิดการลงทุนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดขึ้นทั่วโลก

        ภาคการผลิตไฟฟ้าเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็นราว 30% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก โดยมีสาเหตุหลักมาจากกระบวนการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลในโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (thermal generation) เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และเครื่องปั่นไฟดีเซล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าหลักทั่วโลก

        เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานที่สะอาดทั่วโลก เพื่อลดค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตพลังงานไฟฟ้า (grid emission factor) ของประเทศผ่านการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า (generation mix) โดยปริมาณความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดอายุการใช้งาน (levelized carbon intensity) ของโรงไฟฟ้าแต่ละชนิด ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีและเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เช่น ลมและโซลาร์ มีปริมาณความเข้มข้นในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดอายุการใช้งานน้อยกว่าโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลหลายเท่าตัว

        โดยบทความนี้จะมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าทั้งโลกและไทยซึ่งจะกล่าวถึง

        Drivers : ปัจจัยขับเคลื่อนที่ทำให้อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

        Challenges : ความท้าทาย 3 ด้านที่อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าทั่วโลกต้องเผชิญจากการเร่งเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้ทดแทนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

        Implications : นัยต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าไทยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาแหล่งพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่การใช้แหล่งพลังงานที่สะอาดขึ้น (Energy Transition) ได้


คลิปวิดีโอ