วันพฤหัสบดี ที่ 21 พฤศจิกายน 2567 22:40น.

CSR อย่ามองข้าม ความรับผิดชอบด้านการศึกษา

16 กรกฎาคม 2021
CSR อย่ามองข้าม ความรับผิดชอบด้านการศึกษา

คอลัมน์ CSR Talk

ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย และผู้สนใจระบบการศึกษามาตลอดชีวิต ผมมองดูความตกต่ำของมาตรฐานการศึกษาของประเทศไทยด้วยความกังวล ห่วงใย และด้วยความอยากรู้ว่าปัญหาของการศึกษาคืออะไร ? และจะมีคำตอบที่จะมาช่วยเราปรับปรุงระบบการศึกษาของเราหรือไม่ ?

โดย ดร.พรชัย ศรีประไพ กรรมการมูลนิธิรักษ์ไทย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ อิมพีเรียล เวิลด์

ลองดูสถิติที่ผมพบจากวารสาร NEWSWEEK ฉบับวันที่ 5 กันยายน 2011 ที่เขารายงานด้านทักษะและความรู้ของชาติต่าง ๆ ไว้ดังนี้ ภาษาอังกฤษเราถูกจัดให้อยู่ในลำดับที่ 53 จาก 54 ประเทศทั่วโลกที่คนในประเทศไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก และเป็นอันดับที่ 8 ของอาเซียน

ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ของเด็กไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 50 จากการเปรียบเทียบกับประเทศต่าง ๆ 70 ประเทศทั่วโลก ผมทราบดีว่ากระทรวงศึกษาธิการของไทยมีบุคลากร ครู อาจารย์ นักการศึกษา และนักบริหารที่มีความสามารถอยู่มาก และคงจะห่วงใยกับการศึกษาของชาติเช่นกัน

เพราะมีความพยายามที่จะปฏิรูปการศึกษาของเราอยู่หลายครั้ง แต่ต้องเผชิญหน้ากับระบบการศึกษาที่ค่อนข้างจะซับซ้อน เผชิญหน้ากับปัญหาที่เกี่ยวกับปัจจัยหลักต่าง ๆ หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านระบบการศึกษาที่วางไว้นานเปลี่ยนแปลงยาก และไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สังคม และวัฒนธรรม

ด้านหลักสูตร, ด้านประสิทธิภาพ, ความรู้ ความสามารถของครู อาจารย์

ด้านตำราเรียน, คู่มือการสอน หรือเทคโนโลยีประกอบการสอน

ด้านจำนวนนักเรียน สัดส่วนนักเรียนต่อครูอาจารย์, สถานที่เรียน, อุปกรณ์การสอน และอีกมากมาย

ไม่นานมานี้ผมมีโอกาสคุยกับ “Mr.David Kim” ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาเสริมจากประเทศเกาหลีใต้ เขาเล่าให้ผมฟังว่า การศึกษาสมัยใหม่จะต้องอาศัยข้อมูล ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กในการที่จะนำมาสร้างหลักสูตรที่เหมาะสมต่อเนื่อง ตรงกับความสามารถของเด็กแต่ละคน

หลักสูตรเหล่านี้จะต้องถูกพัฒนาออกไปเป็นแบบเรียนทีละขั้น มีการประเมินความรู้ของเด็กก่อนที่จะก้าวต่อไป จะต้องมีกระบวนการเรียนการสอนที่เอื้อให้เด็กฝึกนิสัยการเรียนรู้และความมั่นใจในตนเอง

โดยมีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การพัฒนาคน ไม่ใช่การให้ความรู้เพียงอย่างเดียว

พร้อมกันนั้น “David” ยังนำเอกสารมากมายเกี่ยวกับระบบการศึกษาของเขามาให้ผมดู ซึ่งผมใช้เวลาศึกษาระบบของเกาหลีจนคิดว่าเข้าใจ และมองเห็นประเด็นต่าง ๆ ที่เป็นจุดอ่อนของการศึกษาของเราค่อนข้างชัดเจน

1.การเรียนการสอนของเรา ครูเป็นผู้นำ…เด็กเป็นผู้ตาม เด็กมีจำนวนมาก ครูเอาใจใส่ไม่ทั่วถึง

2.เน้นระบบท่องจำ…ไม่ใช่ระบบเรียนรู้ด้วยความเข้าใจ

3.เมื่อเด็กไม่เข้าใจก็ไม่อยากเรียน…ไม่สามารถเรียนบทเรียนระดับสูงต่อไปได้

4.เด็กไม่สนุกกับการเรียน เลี่ยง และเบื่อการเรียน

ระบบที่ “David” อธิบายให้ฟัง ผมลองมาสร้างเป็น Diagram ดู จะเห็นความเชื่อมโยงเป็นระบบที่น่าจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าว และปัญหาด้านอื่น ๆ เกี่ยวกับการศึกษาได้ระดับหนึ่ง

ผมวิเคราะห์ว่าหัวใจของการเรียนการสอนที่ “David” เล่าให้ผมฟังมีอยู่ 4 ข้อสำคัญ คือ

1.ปรัชญาการศึกษา

2.หลักสูตร

3.กระบวนการเรียนการสอน

4.กิจกรรมและการประเมินผล

โดยปัจจัยทั้ง 4 ประการโยงใยกันอย่างลึกซึ้ง เป็นระบบที่บูรณาการและเอื้อให้เกิดการพัฒนามนุษย์ที่ได้ผลอย่างไม่น่าเชื่อ ยกตัวอย่าง

1.ปรัชญาการศึกษา คือ เด็กเป็นศูนย์กลางของการเรียน ดังนั้น ทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากเด็ก โดยมีกระบวนการทำงานทุกอย่างที่มุ่งให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนจริง ๆ ต้องมีการทดสอบจุดเริ่มต้นความรู้ความสามารถของเด็ก, มีการทดสอบความก้าวหน้า, มีการเรียนที่เด็กมุ่งมั่นด้วยตนเอง และมีระบบการให้กำลังใจ และการสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก

2.หลักสูตร เป็นหลักสูตรจากสหรัฐอเมริกาที่ได้รับการวิจัยพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เป็นหลักสูตรที่คำนึงถึงขั้นตอนการเรียนรู้ของเด็กอย่างต่อเนื่องและเป็นธรรมชาติ

3.วิธีการเรียนการสอน เน้นที่ตัวเด็ก วิธีเรียนสำคัญเท่า ๆ กับหลักสูตร เด็กจะถูกบ่มเพาะนิสัยให้อยากเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำความเข้าใจ ค้นคว้าหาเหตุผล โดยครูทำหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม แนะนำ (แทนการสอน) พยายามสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก ทำให้เด็กอยากเรียนและพัฒนาตนเองต่อไป

4.กิจกรรม การประเมินผล บรรยากาศ ฯลฯ เด็กจะได้รับแบบเรียนที่ถูกสร้างขึ้นอย่างสอดคล้องกับหลักสูตร ในแต่ละแบบเรียนจะมีกิจกรรมสนุก ๆ ให้เด็กเล่น เพื่อให้เกิดทักษะและความเข้าใจ ดึงดูดให้เด็กอยากเรียน อยากรู้ ทำให้เด็กภาคภูมิใจว่าสามารถทำโจทย์หรือกิจกรรมได้

มีกระบวนการประเมินความก้าวหน้าของเด็กตลอดเวลา ทำให้เด็กเรียนรู้ไปทีละขั้น สามารถเข้าใจในระดับ Mastery หรือเข้าใจอย่างถ่องแท้ในทุกบทเรียน

ทั้งหมดนี้มิใช่เพื่อให้เด็กสอบผ่าน แต่เป็นกระบวนการสร้างคน พัฒนาคนให้กลายเป็นผู้ที่สามารถแก้ปัญหากับตนเองในชีวิตและการทำงาน โดยอาศัยประสบการณ์จากการเรียนรู้ เป็นนักวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ได้ ซึ่งผ่านการฝึกปรือมาอย่างดี และเป็นผู้รักการเรียนเพราะได้ฝึกนิสัยการเรียนรู้มาตลอด

ดังนั้น เมื่อฟังไอเดียคร่าว ๆ จาก “David” แล้ว ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมประเทศเกาหลีใต้ถึงพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว จากประเทศที่เจอวิบัติต้มยำกุ้งเจียนอยู่เจียนตายคู่กับประเทศไทยเพียง 10 กว่าปี กลายเป็นประเทศผู้นำทางอุตสาหกรรม, วิศวกรรม, วัฒนธรรม และอื่น ๆ อีกมากมาย

ทั้งนี้ เพราะเขาปฏิวัติระบบการศึกษา สร้างระบบการเรียนรู้ที่เป็น Package ที่พิสูจน์แล้วได้ผล ความรู้ที่ไม่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญของครูแบบเก่า แต่อาศัยระบบที่ค้นคว้าวิจัยมาอย่างดี แล้วเกี่ยวอะไรกับ Corporate Social Responsibility ?

ผมว่าถ้าองค์กรหรือบริษัทใดสนใจทางด้านการศึกษา แล้วอยากจะร่วมพัฒนาการศึกษาให้เป็นระบบที่เป็น Package หรือ System ที่พิสูจน์แล้วได้ผลกับโรงเรียนเล็ก ๆ ในชนบท

ผมเชื่อว่าถ้าองค์กรหรือบริษัทมีความตั้งใจจริง ช่วยเหลือ สนับสนุนระบบดังกล่าว เราอาจจะเห็นการศึกษาในโรงเรียนที่ห่างไกลกลายเป็นเพชรเม็ดงามที่นักเรียนประสบความสำเร็จทั้งด้านการเรียนและการใช้ชีวิต กลายเป็นต้นแบบของการเรียนการสอนที่ค่อย ๆ ขยายออกไปทีละน้อย

เพราะต้นแบบของความสำเร็จดังกล่าว อาจจะเป็นโซลูชั่นหรือคำตอบระยะยาวของระบบการศึกษาของไทยก็ได้


คลิปวิดีโอ