วันพฤหัสบดี ที่ 24 เมษายน 2568 19:17น.

เป๊ปซี่โคประกาศรายชื่อ 10 สตาร์ทอัพผู้เข้ารอบจากโครงการ “Greenhouse Accelerator 2025”

24 เมษายน 2025

        เป๊ปซี่โคประกาศรายชื่อ 10 สตาร์ทอัพที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของโครงการ “Greenhouse Accelerator” หรือ GHAC ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 3 ซึ่งถือเป็นการเปิดเวทีให้นวัตกรรุ่นใหม่ร่วมขับเคลื่อนอนาคตในด้านต่าง ๆ อาทิ การเกษตรอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจหมุนเวียน และการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ โดยสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับคำแนะนำในการดำเนินธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญ เข้าถึงเครือข่ายทางธุรกิจของเป๊ปซี่โค และได้รับโอกาสในการทดลองแนวทางแก้ปัญหาธุรกิจแบบเสมือนจริง ซึ่งจะช่วยต่อยอดแนวคิดของธุรกิจสตาร์ทอัพให้กลายเป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ที่สามารถขยายผลได้ และเสริมสร้างความยั่งยืนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

       โครงการ “Greenhouse Accelerator” ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านความยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยโครงการแต่ละปีจะเน้นประเด็นสำคัญในระดับภูมิภาค อาทิ การส่งเสริมเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู การเพิ่มประสิทธิภาพของดิน ไปจนถึงการพัฒนาโซลูชันคาร์บอนต่ำในบรรจุภัณฑ์และโลจิสติกส์ สิ่งที่ทำให้โครงการ Greenhouse Accelerator แตกต่างจากโครงการแข่งขันอื่น ๆ คือเรื่องของโมเดลการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งทำให้เหล่าผู้ประกอบการได้มีโอกาสขัดเกลาโซลูชันของพวกเขาไปพร้อมกับผู้เชี่ยวชาญจากทางเป๊ปซี่โค ได้ทดลองลงมือทำจริง รวมถึงได้มองหาแนวทางที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง เพื่อต่อยอดการเติบโตต่อไปในห่วงโซ่ของภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

        ทั้งนี้ ประเทศไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้มีส่วนร่วมกับโครงการ Greenhouse Accelerator โดยมีสตาร์ทอัพจากประเทศไทยผ่านเข้ารอบสุดท้ายในปี 2566 และ 2567 ซึ่งตัวแทนแต่ละทีมล้วนมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นทีม Green2Get ที่พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่การรีไซเคิลให้สามารถซื้อขายวัสดุกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งส่งเสริมพฤติกรรมการรีไซเคิลที่ยั่งยืนในสังคม ทีม AllEV ที่ผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยผ่านโมเดลสมัครสมาชิก สำหรับธุรกิจที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และทีม CIRAC ผู้พัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลโดยใช้กระบวนการไพโรลิซิส (Pyrolysis) ซึ่งเป็นการย่อยขยะพลาสติกโดยไม่ใช้ออกซิเจน เพื่อเปลี่ยนวัสดุเหลือใช้ให้กลายเป็นอลูมิเนียมและน้ำมันที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง

        “ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โครงการ Greenhouse Accelerator ได้กลายเป็นเวทีสำคัญในการเฟ้นหาแนวคิดเชิงนวัตกรรมที่กล้าท้าทายโจทย์ใหญ่ด้านความยั่งยืนที่เร่งด่วนที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายเรื่องสภาพภูมิอากาศ ไปจนถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับโลก และการเพาะปลูกที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น สิ่งที่เราตื่นเต้นที่สุดคือการได้เห็นนวัตกรรมที่แก้ปัญหาได้อย่างเชื่อมโยงทั้งในระดับชุมชนและในเวทีโลก ซึ่งเราพร้อมจะสนับสนุนผู้เข้ารอบเหล่านี้ ตลอดจนเรียนรู้จากพวกเขาในการสำรวจแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะสามารถขยายผลได้ พร้อมต่อยอดความเปลี่ยนแปลงไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในอนาคต โดยโครงการ Greenhouse Accelerator แต่ละครั้งได้มีส่วนช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่อีโคซิสเต็มของเหล่าผู้ที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราตั้งหน้าตั้งตารอดูว่าบรรดาผู้เข้ารอบสุดท้ายของโครงการในปีนี้จะสามารถปลดล็อคสิ่งใหม่ ๆ อะไรได้บ้าง ทั้งจากในระหว่างการเข้าร่วมโครงการและในอนาคตต่อจากนี้” Anne Tse ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เป๊ปซี่โค ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว

ผู้เข้ารอบสุดท้ายโครงการ Greenhouse Accelerator APAC ปี 2025 ได้แก่:

        1.Calyx.eco (จากประเทศออสเตรเลีย)

        2.Endua (จากประเทศออสเตรเลีย)

       3.Beijing AIForce Technology Co. Ltd. (จากประเทศจีน)

       4.Beijing Phabuilder Biotechnology Co. Ltd. (จากประเทศจีน)

       5.Guangdong Databeyond Technology Co. Ltd. (จากประเทศจีน)

      6.Service Enviro SCAD Inc. (จากประเทศจีน)

      7.Shanghai Electric Group Co. Ltd. Central Academe (จากประเทศจีน)

      8.Bali Waste Cycle (CV Bakti Bumi Berseri) (จากประเทศอินโดนีเซีย)

     9.Circular Unite (จากประเทศสิงคโปร์)

     10.DEEGOLABs Inc (จากประเทศเกาหลีใต้)

       ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าสตาร์ทอัพที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจะมีเป้าหมายทางธุรกิจที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการของเสีย การเกษตร บรรจุภัณฑ์หมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด แต่สิ่งที่ยึดมั่นร่วมกันคือ ความมุ่งมั่นในการสร้างนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมความยั่งยืน ผ่านการใช้ AI ในการช่วยประเมินวัฏจักรชีวิตการเกษตรแบบแม่นยำ  การรีไซเคิลโทรศัพท์มือถือ และระบบกักเก็บพลังงานผ่านเกลือหลอมเหลว สตาร์ทอัพเหล่านี้สามารถสร้างนวัตกรรมที่เติบโตได้ ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยให้กระบวนการผลิตคุ้มค่ายิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่ออุตสาหกรรมอาหาร พลังงาน และการจัดการของเสีย

        นอกจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ยังมีสตาร์ทอีกหลายทีมที่นำเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยเน้นการสร้างงานที่ครอบคลุม และเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ ในชุมชน โดยทีมที่เข้ารอบจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ จะได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับโอกาสในการเข้าถึงเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและทรัพยากรทางการตลาดระดับโลกจากเป๊ปซี่โค รวมถึงการได้รับคำปรึกษาเฉพาะทางและเนื้อหาการเรียนรู้จากผู้บริหารของเป๊ปซี่โค และพันธมิตรระดับโลก เพื่อช่วยแก้ปัญหาความท้าทายในเรื่องการขยายธุรกิจ ปรับกลยุทธ์ และการขยายผลสู่ตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ทีมที่สามารถต่อยอดนวัตกรรมได้อย่างโดดเด่นที่สุดจะได้รับเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อต่อยอดการขยายผลเชิงพาณิชย์

        นับตั้งแต่เปิดตัวโครงการ Greenhouse Accelerator ได้มอบทุนสนับสนุนไปแล้วมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และริเริ่มโครงการนำร่องไปแล้วกว่า 16 แห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครอบคลุมทั้งโรงงานและฟาร์มกว่า 11 แห่งทั่วภูมิภาค ในระดับโลก โครงการนี้ได้ให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพไปแล้วกว่า 112 บริษัท และมีผู้เชี่ยวชาญกว่า 200 คนเข้าร่วมให้คำปรึกษา โดยกว่า 80% ของบริษัทที่เข้าร่วมโครงการสามารถระดมทุนเพิ่มเติมได้หลังจากเสร็จสิ้นโครงการ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการเร่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ตัวอย่างเช่น ผู้ชนะจากโครงการในปี 2566 และ 2567 ได้แก่ Alternō และ Powered Carbon รวมถึงผู้เข้ารอบอย่าง X-Centric และ Enwise ที่ได้พัฒนาความร่วมมือกับเป๊ปซี่โคเพิ่มเติมต่อยอดจากโครงการ

       เป๊ปซี่โคตระหนักดีว่าความสำเร็จในระยะยาวของธุรกิจนั้นเชื่อมโยงกับสภาพของสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนของระบบห่วงโซ่อาหารและชุมชน โดยตลอดสองปีที่ผ่านมา โครงการ Greenhouse Accelerator ได้พัฒนาอีโคซิสเต็มของนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้เปิดรับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ใหม่ ๆ และขยายการเข้าถึงในระดับภูมิภาค โครงการนี้เป็นเวทีความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ และชุมชน เพื่อพัฒนาโซลูชันที่ส่งผลเชิงบวกทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ในปีนี้ ได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากพันธมิตรระดับภูมิภาค ได้แก่ Suntory PepsiCo Beverages Thailand, Suntory PepsiCo Beverages Vietnam, GC Ventures, Circulate Capital, CM Venture Capital, GRC Sino GreenFund และ Plug and Play ซึ่งต่างก็มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเครือข่ายของนวัตกรให้เติบโตและเชื่อมต่อกันอย่างทั่วถึงทั้งภูมิภาค


คลิปวิดีโอ