วันอังคาร ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 15:09น.

EXIM BANK สนับสนุน ‘SET Carbon’ ยกระดับข้อมูลคาร์บอนธุรกิจไทย

10 กุมภาพันธ์ 2025

 

        ปัจจุบันโลกต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น สะท้อนจากภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายรุนแรงขึ้นและมีความถี่เพิ่มขึ้น โดยล่าสุด AccuWeather ได้ประเมินความเสียหายของเหตุการณ์ไฟป่าในนครลอสแอนเจลิสของสหรัฐฯ ไว้สูงถึง 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5 ล้านล้านบาท ขณะที่ธนาคารโลกคาดว่า มีประชากรโลกราว 1,200 ล้านคนที่กำลังเผชิญความเสี่ยงร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยจึงร่วมกันตั้งเป้าหมายเพื่อหยุดยั้งและรับมือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยรัฐบาลไทยประกาศเจตนารมณ์ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608

       ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า เป้าหมายดังกล่าวไม่อาจสำเร็จได้ด้วยคนหรือองค์กรเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งหนึ่งในกลไกสำคัญคือ Climate Finance ที่ปัจจุบันยังมีเม็ดเงินไม่เพียงพอต่อความต้องการ ข้อมูลจาก Climate Policy Initiative คาดว่า ปัจจุบันโลกมีความต้องการ Climate Finance สูงถึง 7.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี มากกว่าเม็ดเงินที่มีอยู่จริงในระบบเพียง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ถึง 5 เท่า ขณะที่ในประเทศไทย Thailand’s Climate Finance Strategy กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ประเมินว่า มีความต้องการ Climate Finance เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution : NDC) ภายในปี 2573 อยู่ที่ราว 5-7 ล้านล้านบาท

       “ปัจจุบัน Climate Finance ของไทยมีอยู่ราว 416,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นพันธบัตรสีเขียวหรือ Green Bond 140,000 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนของ EXIM BANK อยู่ที่ 11,500 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อสีเขียวหรือ Green Finance มีอยู่ราว  276,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีส่วนของ EXIM BANK อยู่ที่ราว 76,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินดังกล่าวก็ยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมาย NDC อยู่ถึง 4.6-6.6 ล้านล้านบาท หรือราว 12-17 เท่า” ดร.รักษ์ กล่าว

        กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวอีกว่า เพื่อยกระดับให้ Climate Finance ในไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างน้อย 4 ขั้นตอนต่อเนื่อง ได้แก่ 1. ผู้ประกอบการต้องตระหนักและทำความเข้าใจหลักเกณฑ์การวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อรับรู้ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกิจการตลอดจนหลักเกณฑ์ มาตรฐานในการรายงาน และการทวนสอบความถูกต้องของรายงาน 2. นำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจการมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานของกิจการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่เหมาะสมและกรอบระยะเวลาในการบรรลุเป้าหมาย 3. สถาบันการเงินต้องเข้ามามีบทบาทในการให้สินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปลงทุนในการปรับปรุงกิจการให้สามารถลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ลงได้ และ 4. ผู้ประกอบการต้องติดตามการดำเนินแผนงาน เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ และบรรลุเป้าหมายตามตัวชี้วัดที่กำหนด

       อย่างไรก็ดี หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่องค์กรธุรกิจไทย โดยเฉพาะ SMEs เผชิญอยู่คือ การขาดเครื่องมือจัดการข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมากไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างครบถ้วนและขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนสีเขียว จากการเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว

       ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลาดหลักทรัพย์ฯ) ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ EXIM BANK พัฒนาระบบ SET Carbon ขึ้นมา เพื่อเป็นเครื่องมือจัดการข้อมูลและคำนวณข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างมีประสิทธิภาพสำหรับองค์กรธุรกิจ ขับเคลื่อนการจัดการข้อมูลผ่าน SET Carbon ตั้งแต่ต้นทางของข้อมูลไปจนถึงปลายทางในการนำข้อมูลมาให้พัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว

       นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐและนักลงทุนมีความต้องการข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 มีบริษัทจดทะเบียนไทยประมาณ 30% ที่สามารถเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้อย่างครบถ้วน ขณะที่ยังมีบริษัทจดทะเบียนอีกจำนวนมากที่ต้องการเครื่องมือช่วยจัดทำรายงานดังกล่าวให้รองรับกับกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว โดยเริ่มเปิดให้องค์กรธุรกิจใช้งานตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าระบบ SET Carbon จะเป็นประโยชน์สำหรับองค์กรธุรกิจ ช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันกับตลาดทุนทั่วโลก เนื่องจากปี 2569 สหภาพยุโรปจะมีการบังคับใช้มาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ที่ส่งผลต่อภาคการส่งออก

      ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นเป็นการเตรียมความพร้อม

       ในการรองรับและลดภาระในการรายงานข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของภาคเอกชน เป็นประโยชน์ทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยและการพัฒนาโอกาสสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้เกี่ยวข้องในระยะยาวต่อไป

 

       ดร.รักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK ภายใต้บทบาท Green Development Bank พร้อมเร่งเติม Climate Finance ในประเทศไทย ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว ให้ความสำคัญกับการรายงานข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และมาตรฐานสากล ยกระดับความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือให้กับโครงการหรือกิจการที่มุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว EXIM BANK พร้อมให้การสนับสนุนทางการเงิน เพื่อแบ่งเบาภาระและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเงินทุนหมุนเวียน อัตราดอกเบี้ยพิเศษเริ่มต้นเพียง 1.99% ต่อปี ใน 3 เดือนแรก (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยตลอด 3 ปี 4.99% ต่อปี)

       “ความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และ EXIM BANK จะสร้างระบบนิเวศข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ครบวงจร ช่วยให้ธุรกิจไทยเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนได้สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนากลไกสนับสนุนธุรกิจให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืนได้ในตลาดโลก” ดร.รักษ์ กล่าว

       ด้วยความมุ่งมั่นเป็นมากกว่าธนาคาร EXIM BANK ยังได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกกระตุ้นให้ภาคธุรกิจขึ้นทะเบียนลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (T-VER) ผลักดันให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตขึ้นในประเทศไทย สนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการที่สนใจจะขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนเวทีการค้าโลก สามารถปรึกษา EXIM Contact Center โทร 0 2169 9999


คลิปวิดีโอ