นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.77 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัว ไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 33.74-33.85 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง หลังเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) ทยอยอ่อนค่าลง ตามการปรับลดดอกเบี้ย 25bps สู่ระดับ 4.50% ของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ที่แม้จะเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทว่า มีกรรมการ 2 ท่านที่สนับสนุนให้ BOE ปรับลดดอกเบี้ยลง 50bps ในการประชุมครั้งนี้ อีกทั้งผู้ว่าฯ BOE ยังได้ส่งสัญญาณว่า BOE มีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงเพิ่มเติมได้ ทำให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า การลดดอกเบี้ยของ BOE ในครั้งนี้ มีลักษณะ Dovish Cut อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์กลับแข็งค่าขึ้นได้ไม่นาน หลังรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) ของสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาดเล็กน้อย ขณะเดียวกัน บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินยุโรปก็มีส่วนหนุนให้ทั้งเงินยูโร (EUR) และเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งเงินปอนด์อังกฤษก็สามารถทรงตัวเหนือระดับก่อนรับรู้ผลการประชุม BOE ได้ ซึ่งการย่อตัวลงบ้างของเงินดอลลาร์ในช่วงคืนที่ผ่านมา ก็มีส่วนช่วนหนุนการรีบาวด์ขึ้นบ้างของทั้งราคาทองคำและเงินบาท
แม้ว่าบรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ทว่ารายงานผลประกอบการของบางบริษัทที่ออกมาแย่กว่าคาดก็มีส่วนกดดันบรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ อีกทั้งผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานวันศุกร์นี้ เพื่อประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ขณะเดียวกัน การปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบในช่วงนี้ ก็มีส่วนกดดันบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Exxon Mobil -1.3% ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดเพียง +0.36%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นกว่า +1.17% ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส โดยเฉพาะกลุ่มเหมืองแร่ นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปโดยรวมยังได้แรงหนุนจากความหวังว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจยุติลงได้ หลังมีแนวโน้มที่จะเกิดการประชุมสุดยอดผู้นำระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ภายในช่วงไตรมาส 1 ของปีนี้
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways แถวโซน 4.43% หลังผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้ ขึ้นกับการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งจะขึ้นกับการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ โดยเราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่มีความน่าสนใจและคุ้มค่า
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลงบ้าง ในลักษณะ Sideways Down แม้จะมีจังหวะแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) หลังตลาดรับรู้ผลการประชุม BOE ทว่าเงินดอลลาร์ก็ย่อตัวลงบ้าง ตามรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานของสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึงการรีบาวด์ขึ้นของเงินยูโรและเงินปอนด์อังกฤษ ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของตลาดหุ้นยุโรป ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ ส่งผลให้โดยรวมเงินดอลลาร์ย่อตัวลงสู่โซน 107.7 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 107.6-108.1 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การเคลื่อนไหวของราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย. 2025) ยังคงสอดคล้องกับทิศทางเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมราคาทองคำแกว่งตัวในลักษณะ Sideways แถวโซน 2,880-2,890 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ทั้ง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) อัตราการว่างงาน และอัตราการเติบโตของค่าจ้าง ซึ่งจะทยอยรับรู้ในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) โดยเฉพาะในส่วนของอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในปีนี้ ที่ล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดมีโอกาสราว 76% ที่จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ และมีโอกาสราว 74% ที่จะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง 25bps ในปีหน้า
ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นผลการประชุมธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ซึ่งผู้เล่นในตลาดต่างคาดว่า RBI อาจลดดอกเบี้ยลง 25bps สู่ระดับ 6.25% หลังภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงมากขึ้น ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็ได้ทยอยชะลอตัวลงและมีแนวโน้มกลับสู่เป้าหมายของ RBI
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงรอติดตามท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า (รอจับตาว่า ทางการสหรัฐฯ จะมีการเจรจากับทางการจีน จนอาจนำไปสู่การชะลอมาตรการเก็บภาษีนำเข้าได้หรือไม่) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ Sideways หากประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจน เหนือโซนแนวต้าน 34.10 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านแถว 34.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดโอกาสที่เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยลง 2 ครั้งในปีนี้
โดยเรามีความกังวลว่า รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ในเดือนมกราคม อาจออกมา เพิ่มขึ้น 1.8-2.2 แสนตำแหน่ง ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดประเมินไว้แถว 1.7 แสนตำแหน่ง โดยคาดการณ์ของเราก็ใกล้เคียงกับมุมมองของทางทีมนักวิเคราะห์ Bloomberg Economics (ซึ่งเป็นทีมที่ประเมินยอดการจ้างงานได้แม่นยำที่สุดในการประเมินยอดการจ้างงานเดือนธันวาคม) ทำให้มีโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดจะตอบรับต่อ ยอดการจ้างงานฯ ที่ออกมาดีกว่าคาดไปมากได้ หากการประเมินของเราและทาง Bloomberg Economics นั้นถูกต้อง ซึ่งอาจเห็นเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาทได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ดี เรามองว่า มีโอกาสที่เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากนัก เนื่องจากรายงานยอดการจ้างงานฯ ในครั้งนี้ จะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังจนถึงช่วงเดือนมีนาคมปี 2024 ซึ่งเรามองว่า มีโอกาสที่จะเห็นการปรับลดยอดการจ้างงานฯ ในอดีตลง เฉลี่ยเดือนละ 6-8 หมื่นตำแหน่ง ทำให้ภาพรวมตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงเป็นแนวโน้มทยอยชะลอตัวลง (Gradual Cooling Labor Market) ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดความกังวลต่อยอดการจ้างงานฯ ที่จะออกมาดีกว่าคาดไปมากได้ รวมถึงในกรณีที่ อัตราการว่างงาน (Unemployment) ปรับตัวขึ้นบ้างสู่ระดับ 4.2% ก็อาจช่วยชะลอการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้เช่นกัน
ทั้งนี้ เราขอเน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนของตลาดการเงินในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เนื่องจากสถิติย้อนหลัง 1 ปี ที่ผ่านมา ชี้ว่า เงินบาท (USDTHB) อาจผันผวนกว่า +0.65%/-0.35% โดยเฉลี่ย ในช่วง 30 นาที หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.60-34.00 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ)