นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.68 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 33.82 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้นในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 33.60-33.87 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินฝั่งสหรัฐฯ เริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความหวังว่า ผู้นำจีนกับสหรัฐฯ จะมีการเจรจาในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการทำสงครามการค้า หลังสหรัฐฯ ได้ประกาศขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากจีน ส่วนทางการจีนล่าสุดก็ได้ประกาศมาตรการตอบโต้การขึ้นภาษีนำเข้าดังกล่าวเช่นกัน นอกจากนี้ ตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส และนอกเหนือจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาแย่กว่าคาด ทั้งยอดคำสั่งซื้อภาคโรงงาน (Factory Orders) ที่หดตัว -0.9%m/m ส่วนยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (Job Openings) ก็อยู่ที่ระดับ 7.6 ล้านตำแหน่ง ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าและแย่กว่าคาดพอสมควร ซึ่งการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ก็มีส่วนหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์และช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมาเช่นกัน
บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ พลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส ขณะเดียวกัน ผู้เล่นในตลาดต่างก็มีความหวังว่า ผู้นำสหรัฐฯ และจีนอาจมีการเจรจากันในเร็วนี้ ซึ่งอาจนำไปสู่การชะลอมาตรการเก็บภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ ได้ประกาศก่อนหน้าได้ ส่งผลให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.72%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 รีบาวด์ขึ้นราว +0.22% หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส อาทิ Ferrari +8.0%, BNP +4.2% อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางความกังวลว่า ยุโรปอาจเผชิญนโยบายกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ได้ในอนาคต
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.53% แม้จะมีจังหวะปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 4.60% ทว่า รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีนี้ เป็น 74% ก็มีส่วนกดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวลดลงได้ อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่อาจผันผวนสูงขึ้นได้บ้าง ขึ้นกับแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 รวมถึงการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด หลังรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ทำให้เราคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรรอจังหวะทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip) เพื่อให้ได้ Risk-Reward ที่มีความน่าสนใจและคุ้มค่า
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง กดดันโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่วนใหญ่ที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ทว่าเงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานข้อมูลการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์นี้ อีกทั้งการดำเนินนโยบายการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ส่งผลให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวลงสู่โซน 108 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 107.9-108.7 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าตลาดการเงินจะทยอยกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ทว่า การทยอยปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ช่วยหนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน เม.ย. 2025) ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้ระดับ 2,870 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนค่าของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา
สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนมกราคม รวมถึงยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ซึ่งอาจพอช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่จะรายงานในวันศุกร์นี้ได้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ภายใต้ความผันผวนของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0
ส่วนในฝั่งจีน ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ผ่านรายงานดัชนี Caixin PMI ภาคการบริการ เดือนมกราคม
นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน รวมถึงรอติดตามท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า (รอจับตาว่า ทางการสหรัฐฯ จะมีการเจรจากับทางการจีน จนอาจนำไปสู่การชะลอมาตรการเก็บภาษีนำเข้าได้หรือไม่) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยก็แกว่งตัวในกรอบ Sideways หากประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจน เหนือโซนแนวต้าน 34.10 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทได้รับอานิสงส์จากการทยอยปรับตัวขึ้นของราคาทองคำพอสมควร ซึ่งปัจจุบัน หากประเมินในเชิงเทคนิคัล ราคาทองคำก็เสี่ยงที่จะมีจังหวะย่อตัวลงมาบ้าง โดยการปรับตัวลงของราคาทองคำก็อาจถูกเร่งได้ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ในช่วงนี้ ทั้ง ดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ รวมถึงข้อมูลการจ้างงาน ออกมาดีกว่าคาด
อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า ตลาดการเงินยังเสี่ยงเผชิญความผันผวนลักษณะ Two-Way Volatility ขึ้นกับความกังวลของผู้เล่นในตลาดต่อการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งในช่วงระยะสั้น อาจต้องจับตาท่าทีของทางการสหรัฐฯ ต่อแนวโน้มการขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากยุโรป ที่อาจกดดันให้เงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงได้อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงแนวโน้มการเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐฯ กับผู้นำจีน ซึ่งอาจนำไปสู่การชะลอเก็บภาษีนำเข้าที่ได้ประกาศไปล่าสุด โดยภาพดังกล่าว ก็อาจหนุนให้ เงินหยวนจีน (CNY) ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง ส่งผลดีต่อบรรดาสกุลเงินเอเชียได้ไม่ยาก แต่เรายังไม่ได้มีความหวังต่อการรีบกลับมาเจรจาระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มากนัก และคงมุมมองเดิมว่า ต้องระวังแนวโน้มที่สหรัฐฯ อาจเดินหน้าทยอยขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจีน ทว่าสิ่งที่อาจพอเป็นไปได้ คือ การปรับมาตรการเก็บภาษีนำเข้าใหม่ โดยอาจยกเว้นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อย่าง Smartphone เนื่องจากการประกาศมาตรการภาษีล่าสุดจะกระทบต่อบริษัทสหรัฐฯ อย่าง Apple ได้พอสมควร
อนึ่ง เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในคืนนี้ อย่าง ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP และดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ เนื่องจากสถิติในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สะท้อนว่า เงินบาท (USDTHB) เสี่ยงผันผวนโดยเฉลี่ยเกือบ +/-0.20% ภายในช่วง 30 นาที หลังรับรู้รายงานข้อมูลดังกล่าว
ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.50-33.80 บาท/ดอลลาร์ (ระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ)