วันพุธ ที่ 22 มกราคม 2568 17:55น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.99 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

22 มกราคม 2025

        นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.99 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.11 บาทต่อดอลลาร์

        โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้น (แกว่งตัวในกรอบ 33.92-34.15 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ลงบ้าง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD เพิ่มเติม นอกจากนี้ เงินบาทยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านระยะสั้น สู่ระดับ 2,740 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และจังหวะปรับตัวลดลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เปิดโอกาสให้ราคาทองคำอาจปรับตัวขึ้นทดสอบจุดสูงสุดก่อนหน้าใกล้โซน 2,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์

        บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 (นักวิเคราะห์บางส่วนปรับลดโอกาสที่รัฐบาล Trump 2.0 จะขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าทั่วโลกลง เช่นจากโอกาสเกิดขึ้น 40% เหลือ 25%) อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ถูกกดดันบ้างจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Chevron -2.0% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลนโยบายพลังงานของรัฐบาล Trump 2.0

        ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.40% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อาทิ LVMH +2.7% หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ลงบ้าง ทว่า ตลาดหุ้นยุโรปก็เผชิญแรงกดดันจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Shell -1.0% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากแนวโน้มการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ตามนโยบายพลังงานของรัฐบาล Trump 2.0

        ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวในกรอบ Sideways แถวโซน 4.57% โดยการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ถูกจำกัดโดยมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงไม่เชื่อว่า เฟดจะสามารถเดินหน้าลดดอกเบี้ยได้ถึง 2 ครั้งในปีนี้ แม้ว่า ผู้เล่นในตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ลงบ้างก็ตาม นอกจากนี้ บรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังไม่สามารถปรับตัวลดลงต่อได้ชัดเจน อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนสูง ขึ้นกับการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งต้องติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 20 อย่างใกล้ชิด ทำให้เราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดก็สามารถทยอยซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นได้

        ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน และท่าทีของรัฐบาล Trump 2.0 ซึ่งอาจยังไม่ได้เร่งรีบเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้าที่รุนแรงอย่างที่ตลาดเคยกังวลก่อนหน้า ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวลดลงสู่โซน 108 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 107.9-108.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลดลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) สามารถปรับตัวขึ้นทะลุโซนแนวต้านระยะสั้น สู่โซน 2,750-2,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำดังกล่าว ก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมาเช่นกัน 

        สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ แม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจจะมีไม่มาก ทว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเฉพาะประธาน ECB ในช่วงราว 22.15 น. ตามเวลาประเทศไทย เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของ ECB ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดต่างประเมินว่า ECB มีโอกาสราว 88% ที่จะลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง หรือ 100bps ในปีนี้ 

        และในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 อย่างใกล้ชิด พร้อมรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

        สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เมื่อประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following หลังเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นหลุดโซนแนวรับสำคัญ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยโซนแนวรับถัดไปจะอยู่ในช่วง 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเงินบาทก็สามารถแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนดังกล่าวได้ หากได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ รวมถึงแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ หลังในช่วงนี้ เริ่มเห็นการทยอยกลับเข้าซื้อบอนด์ไทย โดยเฉพาะบอนด์ระยะยาวจากบรรดานักลงทุนต่างชาติเพิ่มเติม ขณะที่ในส่วนของหุ้นไทยนั้น นักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อสุทธิบ้าง แต่ยังไม่มากนัก เมื่อเทียบกับแรงซื้อสุทธิบอนด์ไทย

        อย่างไรก็ดี เรามองว่า ตลาดการเงินยังเสี่ยงเผชิญความผันผวนสูง และเงินบาทก็พร้อมกลับไปอ่อนค่าลงเร็วและแรงได้ทุกเมื่อ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาล Trump 2.0 ดังจะเห็นได้จากในวันก่อนหน้า ที่เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าหนักจากโซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ สู่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ อย่างรวดเร็วในช่วง 7.40-8.00 น. หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า กำลังพิจารณาขึ้นภาษีนำเข้า 25% กับแคนาดาและเม็กซิโก ซึ่งจากภาพความผันผวนดังกล่าว ทำให้เราขอเน้นย้ำว่า ผู้เล่นในตลาดควรประยุกต์ใช้กลยุทธ์ในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยอาจใช้กลยุทธ์ Options เพื่อสร้างความได้เปรียบในช่วงตลาดผันผวนสูง หรือพิจารณาใช้ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

        มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.80-34.10 บาท/ดอลลาร์


คลิปวิดีโอ