วันพุธ ที่ 15 มกราคม 2568 18:34น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.69 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย”

15 มกราคม 2025

        นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.69 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์

        โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยแข็งค่าขึ้น ในลักษณะ Sideways Down (แกว่งตัวในกรอบ 34.67-34.80 บาทต่อดอลลาร์) หนุนโดยการทยอยอ่อนค่าลงบ้างของเงินดอลลาร์ หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ในเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น +0.2% จากเดือนก่อนหน้า น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ (+3.3%y/y น้อยกว่าที่ตลาดคาดเช่นกัน) ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ลงบ้าง พร้อมกับทยอยขายทำกำไรสถานะ Long USD (มองเงินดอลลาร์แข็งค่า) เพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดยังคงไม่เร่งรีบปรับสถานะถือครองสกุลเงินต่างๆ มากนัก เพื่อรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในช่วงคืนวันพุธนี้ ตามเวลาประเทศไทย นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากการรีบาวด์ขึ้นของเงินยูโร (EUR) หลังผู้เล่นในตลาดทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการเร่งลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และนอกเหนือจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ เงินบาทก็ได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการรีบาวด์สูงขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ที่ปรับตัวขึ้นใกล้โซน 2,670-2,680 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง

        บรรดาผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวเพื่อรอลุ้นทั้งรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ และรายงานผลประกอบการของบรรดาสถาบันการเงินขนาดใหญ่ อาทิ Citi, GS และ JPM ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth เพิ่มเติม ตามความกังวลแนวโน้มเฟดชะลอการลดดอกเบี้ย ที่หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.11%

        ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.08% กดดันโดยการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน BP -2.5% จากความกังวลผลกระทบต่อกำไร หลังค่าการกลั่นลดลง ส่วนกลุ่ม Healthcare ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง นำโดย Novo Nordisk -3.4% ทว่าตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนบ้างจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มการเงินและกลุ่มยานยนต์

       ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ โดยรวมเคลื่อนไหวในกรอบ Sideways และยังไม่สามารถทะลุโซน 4.80% ได้อย่างชัดเจน หลังรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ล่าสุด ออกมาต่ำกว่าคาด ลดความกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ และแนวโน้มเฟดชะลอการลดดอกเบี้ย ทว่า ผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองบอนด์ที่ชัดเจนต่อไป ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ทยอยปรับตัวขึ้นในจุดที่มีความน่าสนใจอยู่ เมื่อประเมินจาก Risk-Reward ของผลตอบแทนรวม (Total Return) และจุด Break-Even Yield ทำให้เราคงแนะนำทยอยซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้น

         ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยอ่อนค่าลง ตามแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลต่อแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อและการชะลอลดดอกเบี้ยของเฟดลงบ้าง ตามรายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ที่ออกมาต่ำกว่าคาด นอกจากนี้ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ปรับลดความคาดหวังการเร่งลดดอกเบี้ยของ ECB ก็ช่วยหนุนการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินยูโร (EUR) ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ย่อตัวลงสู่โซน 109.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 109.2-109.8 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และบรรยากาศระมัดระวังตัวของตลาดการเงิน ได้ช่วยหนุนให้ราคา (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) ได้ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้านระยะสั้นแถว 2,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา

        สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ไฮไลท์สำคัญ จะอยู่ที่รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนธันวาคม ของสหรัฐฯ ที่จะทยอยรับรู้ในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งล่าสุด ผู้เล่นในตลาดให้โอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ในปีนี้ เพียง 18%

        ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ ในเดือนธันวาคม เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยล่าสุดผู้เล่นในให้โอกาสราว 12% ที่ BOE จะสามารถลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง หรือ 50bps ในปีนี้ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ ECB โดยล่าสุดผู้เล่นในตลาดได้ปรับลดโอกาส ECB ลดดอกเบี้ย 4 ครั้ง หรือ 100bps ลงเหลือ 36%

       และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามผลการประชุมของธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) โดยเรามองว่า BI อาจเลือกที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 6.00% เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงิน แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยปรับตัวลดลงกลับสู่เป้าหมายของ BI แล้วก็ตาม

       สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างรอลุ้นรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในช่วงคืนวันพุธนี้ โดยเงินบาทอาจยังติดโซนแนวต้านแถว 34.80-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่โซนแนวรับก็ยังอยู่แถว 34.60 บาทต่อดอลลาร์ ได้

        เนื่องจาก ล่าสุดผู้เล่นในตลาดต่างให้โอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ เพียงราว 18% ทำให้เรามองว่า หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาตามที่ตลาดคาด หรือ ไม่ได้เร่งตัวสูงขึ้นกว่าที่ตลาดคาดไปมาก เช่น ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงกว่า 3.0%y/y หรือ เกิน +0.5%m/m ก็อาจไม่ได้ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อการลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง ไปมากนัก ซึ่งในกรณีดังกล่าว เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ Sideways เงินบาทก็อาจไม่ได้มีการเคลื่อนไหวที่ชัดเจนและอาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ Sideways ต่อเช่นกัน

        แต่หากอัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาสูงกว่าชัดเจน จะสามารถทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งกังวลว่าเฟดอาจไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ได้ โดยอาจเห็นการปรับลดโอกาสเฟดลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง เหลือไม่ถึง 100% ซึ่งภาพดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลังตลาดรับรู้รายงานยอดการจ้างงานสหรัฐฯ จนหนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ในครั้งนี้ เรามองว่า ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 110 จุด อีกครั้ง ส่วนบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจทะลุโซน 4.80% ได้ไม่ยาก กดดันทั้งราคาทองคำและเงินบาท โดยเงินบาทเสี่ยงอ่อนค่าทะลุโซน 34.80 บาทต่อดอลลาร์ (ต้องจับตาว่า ราคาทองคำจะเคลื่อนไหวอย่างไร หากปรับตัวลดลงด้วยจริง ก็จะยิ่งกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง)

        ส่วนในกรณีที่ อัตราเงินเฟ้อ CPI ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด เช่น +0.2%m/m ถึง +0.3%m/m หรือต่ำกว่า +2.9%y/y ก็จะช่วยคลายกังวลแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ และแนวโน้มเฟดชะลอการลดดอกเบี้ยได้บ้าง ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 สหรัฐฯ อาจย่อตัวลงได้ หนุนให้ราคาทองคำอาจปรับตัวขึ้น ส่วนเงินบาทก็มีโอกาสแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับ 34.50-34.60 บาทต่อดอลลาร์

       ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

       มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.85 บาท/ดอลลาร์ (ควรระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

 


คลิปวิดีโอ