การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 29 ขององค์การสหประชาชาติ (COP29) ซึ่งจัดขึ้นในประเทศอาเซอร์ไบจาน เมื่อวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ได้จบลงไปโดยมี 2 ประเด็นสำคัญของการแก้ไขปัญหา เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) คือ 1. การขาดเงินสนับสนุน โดยประเทศกำลังพัฒนาต้องการเงินสนับสนุนในโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างน้อย 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว องค์กรการเงินระหว่างประเทศ และบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ แต่เรื่องนี้ไม่มีความคืบหน้า และ 2. การขาดความเชื่อมั่น เนื่องจากท่าทีของหลายประเทศยังคงเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจมากกว่ามุ่งลดมลพิษ เช่น จีนและอินเดีย ยังคงก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างต่อเนื่อง สหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนด้านนโยบายสีเขียวหลังจากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง โดยทรัมป์มีนโยบายถอนตัวจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีนโยบายส่งเสริมและเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานฟอสซิล
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ขณะนี้โลกกำลังจับตาดูผลกระทบจากการกลับทิศนโยบายสิ่งแวดล้อมของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่อาจทำให้โลกห่างไกลเป้าหมายการรักษาอุณหภูมิโลกให้ไม่สูงเกินเป้าหมายภายใต้ Paris Agreement ที่กำหนดไว้ 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน โดยมีสัดส่วนราว 12% ของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดของโลก หากสหรัฐฯ ไม่ร่วมมือกับประชาคมโลกอาจทำให้ความพยายามของประเทศอื่น ๆ ลดลง เนื่องจากมองไม่เห็นโอกาสบรรลุผลสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิของโลก
“แม้สหรัฐฯ จะไม่ร่วมมือในการลดโลกร้อน แต่ประเทศอื่นอย่างสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) จีน และอินเดีย ยังเดินหน้าต่อ ก็ไม่น่ากังวลว่าความพยายามแก้ไขปัญหาโลกร้อนจะล้มเหลว เพราะในประเทศเหล่านี้มีประชากรรวมกันมากกว่า 3,000 ล้านคน และมีอัตราการเติบโตสูง หากกลุ่มผู้บริโภครายใหญ่ยังคงเดินหน้าในที่สุดแล้วทิศทางของโลกยังไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวต่อไป”ดร.รักษ์ กล่าว
ดร.รักษ์ กล่าวว่า ขณะนี้โลกยังต้องการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) อีกจำนวนมาก โดยประเมินว่าความต้องการน่าจะสูงถึง 8.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่ในปี 2565 มีเม็ดเงิน Climate Finance ทั่วโลกอยู่ที่ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้เม็ดเงินจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องแต่ก็ยังต่ำกว่าความต้องการถึง 6 เท่า โดยธนาคารเพื่อการพัฒนา (Development Bank) ทั่วโลก รวมทั้ง EXIM BANK มีบทบาทสำคัญในการผลักดันภาคธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเป็นแหล่งเงินทุน (Source of Fund) มากถึง 30% ของมูลค่า Climate Finance โลก
EXIM BANK ทำหน้าที่เป็น Green Development Bank มุ่งพัฒนานวัตกรรมการเงินสีเขียว (Greenovation) อาทิ สินเชื่อ EXIM Green Start สำหรับธุรกิจทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่ดำเนินธุรกิจอย่างใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างระบบนิเวศสีเขียวที่สนับสนุนการค้าการลงทุนที่ยั่งยืนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ช่วยให้ธุรกิจไทยสามารถปรับตัวรับมือและปฏิบัติตามมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมได้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ส่งผลให้ปัจจุบัน EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันเพื่อความยั่งยืน คิดเป็นสัดส่วนราว 38% ของพอร์ตสินเชื่อรวมทั้งหมด และตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อสีเขียวเป็น 50% ภายในปี 2570 พร้อมวางเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2570 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593
ดร.รักษ์ กล่าวอีกว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้โลกต้องเร่งลงมือทำเพื่อแก้ปัญหา Climate Change ให้ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ และเมื่อสหรัฐฯ ไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ คงถึงเวลาที่ประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยต้องพึ่งพาตัวเองในการแก้ปัญหาโลกร้อนให้มากขึ้น โดยภาคส่วนที่สามารถมีส่วนแก้ปัญหาได้มากกว่าที่คิดคือ ผู้บริโภค เนื่องจากผู้บริโภคมีส่วนถึงราว 60-70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อมของโลก ดังนั้น การปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณการใช้และการบริโภคสินค้าและบริการ การบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ไปจนถึงการเลือกสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ
อีกหนึ่งภาคส่วนที่มีอิทธิพลในการผลักดันโลกสีเขียวได้คือ ภาคธุรกิจ ซึ่งสามารถดำเนินกลยุทธ์การตลาดที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Product & Marketing) และการตั้งเป้าลดโลกร้อนด้วย Carbon Neutral และ Net Zero Target ยกตัวอย่างเช่น บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Amazon และ Walmart ที่ตั้งเป้า Net Zero Emissions ภายในปี 2583 ดังนั้น ภาคธุรกิจจึงเป็นอีกหนึ่งเรี่ยวแรงสำคัญที่สามารถสร้างโลกให้ดีขึ้นได้ ตั้งแต่การปรับองค์กรสู่การเป็นธุรกิจสีเขียว การออกผลิตภัณฑ์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการตั้งเป้าลดคาร์บอนตลอด Supply Chain
EXIM BANK สานพลังกับเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมสนับสนุนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลิกโฉมประเทศไทยสู่เศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, and Governance: ESG) ตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของภาครัฐและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม สนใจขอรับคำปรึกษาทางธุรกิจได้ที่ EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999