วันศุกร์ ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 13:20น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”

15 พฤศจิกายน 2024

       นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.15 บาทต่อดอลลาร์

        โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวนในลักษณะ Sideways Down (กรอบการเคลื่อนไหว 34.79-35.17 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเข้าใกล้โซนแนวรับ 34.80 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ราว +30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อย่างไรก็ดี เงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลงกลับสู่โซน 35.00 บาทต่อดอลลาร์อีกครั้ง หลังถ้อยแถลงล่าสุดของประธานเฟด Jerome Powell ที่ระบุว่า

        “เฟดไม่จำเป็นต้องรีบร้อนในการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย” ทำให้ผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม เพียง 48% ลดลงจากวันก่อนหน้าที่ผู้เล่นในตลาดประเมินไว้ถึง 83% (จาก CME FedWatch Tool) ซึ่งภาพดังกล่าวก็สอดคล้องกับมุมมองของผู้เล่นในตลาดพนัน ที่ต่างเชื่อว่า เฟดมีโอกาสเพียง 59% จากที่เคยให้โอกาสไว้เกิน 70% ในวันก่อนหน้า (จาก Kalshi) โดยการปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟดดังกล่าว ได้หนุนให้เงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับมาปรับตัวสูงขึ้น กดดันทั้งราคาทองคำและค่าเงินบาท

         ถ้อยแถลงของประธานเฟดล่าสุดที่ระบุว่า เฟดไม่ได้จำเป็นต้องเร่งรีบปรับลดดอกเบี้ยนั้น ได้กดดันให้บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางแรงขายบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ที่ปรับตัวขึ้นได้ร้อนแรงหลังการเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่าง Tesla -5.8% ทำให้โดยรวม ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -0.64% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.60%

        ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +1.08% หนุนโดยรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยูโรโซนในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวได้ +0.9%y/y ตามคาด ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ออกมาสดใส นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้รับอานิสงส์ จากคาดการณ์ยอดขายในช่วง 5 ปี ข้างหน้าที่โดดเด่นของบริษัท Semiconductor รายใหญ่ อย่าง ASML +7.0% ซึ่งช่วยหนุนให้บรรดาหุ้นกลุ่ม Semiconductor ของยุโรปต่างปรับตัวขึ้น

        ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways โดยแม้ว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะมีจังหวะย่อตัวลงหลุดโซน 4.40% ทว่ามุมมองของผู้เล่นในตลาดที่กลับมาเชื่อว่า เฟดมีโอกาสมากขึ้นที่จะคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ (และมีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยในปีถัดๆ ไป ได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot เดือนกันยายน) หลังรับรู้ถ้อยแถลงของประธานเฟดล่าสุด ก็ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รีบาวด์ขึ้นกลับสู่โซน 4.45% อีกครั้ง โดยผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างคงรอจังหวะบอนด์ยีลด์ ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว ทำให้การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ดูจะเป็นไปอย่างจำกัด

        ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะอ่อนค่าลง ตามการแข็งค่าขึ้นของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) ที่ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นราว +1% ของตลาดหุ้นยุโรป และแรงขายทำกำไรสถานะ Long USD ทว่า เงินดอลลาร์ก็สามารถรีบาวด์แข็งค่าขึ้นได้ จากถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ทำให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงทรงตัวแถวโซน 106.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 106.4-107 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงแรกได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นกลับสู่โซน 2,580 ดอลลาร์ ก่อนที่จะเผชิญแรงกดดันจากการพลิกกลับมาสูงขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดมีโอกาสมากขึ้นที่จะคงดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธันวาคม

        สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ห้ามพลาด คือ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนตุลาคม เป็นต้น โดยหากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าวสะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจจีนก็อาจช่วยลดแรงกดดันต่อสินทรัพย์จีน ทำให้เงินหยวนจีน (CNY) มีโอกาสชะลอการอ่อนค่าลง ซึ่งจะส่งผลดีต่อบรรดาสกุลเงินฝั่งเอเชียด้วยเช่นกัน

        ส่วนในฝั่งอังกฤษ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ซึ่งภาพดังกล่าวอาจส่งผลต่อมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้

      และในฝั่งสหรัฐฯ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่รายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนตุลาคม พร้อมกันนั้นผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด โดยเฉพาะการปรับดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือนธันวาคมนี้

        สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในวันก่อนทะลุโซนแนวต้านสำคัญ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าได้ถึง 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดได้กลับมาเชื่อว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยน้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุด พอสมควรแล้ว โดยเฉพาะในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งผู้เล่นในตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดมีโอกาสที่จะคงดอกเบี้ยในการประชุมดังกล่าวได้ (โอกาสยังดู 50%-50% ทำให้มีโอกาสที่ผู้เล่นในตลาดจะ price-in แนวโน้มการคงดอกเบี้ยของเฟดมากขึ้นอีกได้) ส่วนในปีหน้า ผู้เล่นในตลาดก็ยังมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง ทำให้ เราประเมินว่า เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวสูงขึ้นต่ออีกไม่มากนัก อย่างไรก็ดี เงินบาทยังคงอ่อนไหวต่อโฟลว์ธุรกรรมสินค้าโภคภัณฑ์อยู่พอสมควร ทำให้ตราบใดที่ราคาทองคำยังมีจังหวะปรับตัวลดลง ก็อาจกดดันหรือเร่งการอ่อนค่าของเงินบาทได้

       อย่างไรก็ดี ในช่วงวันนี้ เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรือ อย่างน้อยก็ชะลอการอ่อนค่าลง หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีน (ทยอยรับรู้ในช่วง 9.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) นั้น สะท้อนการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของเศรษฐกิจจีน และหากออกมาดีกว่าคาด ก็จะช่วยหนุนให้เงินหยวนจีน (CNY) กลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หรืออาจทรงตัว ไม่ได้อ่อนค่าลงชัดเจน ในกรณีที่ข้อมูลเศรษฐกิจจีนออกมาตามคาด

        อย่างไรก็ดี เรามองว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ในช่วงราว 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดความผันผวนลักษณะ Two-Way Volatility ต่อเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ ขึ้นกับการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด

       ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

        มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.85-35.20 บาท/ดอลลาร์

 

 


คลิปวิดีโอ