วันศุกร์ ที่ 15 พฤศจิกายน 2567 00:03น.

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.89 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย”

13 พฤศจิกายน 2024

        นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 34.89 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.85 บาทต่อดอลลาร์

       โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (กรอบการเคลื่อนไหว 34.73-34.90 บาทต่อดอลลาร์) หลังจากที่ในช่วงวันก่อนหน้า เงินบาทได้เคลื่อนไหวอ่อนค่าลงต่อเนื่องทะลุโซนแนวต้าน 34.65 บาทต่อดอลลาร์ ที่เราประเมินไว้ได้ ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทเริ่มชะลอลงแถวโซนแนวต้าน 34.85-34.90 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงคืนที่ผ่านมา หลังราคาทองคำ (XAUUSD) มีจังหวะรีบาวด์ขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ จากโซนแนวรับก่อนหน้า เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ทองคำบ้าง ทว่า เงินบาทก็กลับมาอ่อนค่าลงบ้างในช่วงดึก ตามการทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินดอลลาร์ ที่ยังคงได้รับอานิสงส์จากมุมมองของผู้เล่นในตลาด ซึ่งต่างเชื่อว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า Dot Plot พอสมควร นอกจากนี้ มุมมองดังกล่าวของผู้เล่นในตลาดยังหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น ทะลุโซน 4.40% ได้อีกครั้ง และการปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็กลับมากดดันให้ราคาทองคำ (XAUUSD) ย่อตัวลงกลับสู่โซนแนวรับ 2,590-2,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

        บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มเผชิญแรงกดดันจากการขายทำกำไรบรรดาหุ้นธีม Trump Trades โดยเฉพาะ Tesla -6.2% ทว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอได้แรงหนุนจากการรีบาวด์ขึ้นบ้างของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Nvidia +2.1% ทำให้โดยรวม ดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.29%

        ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลงหนัก -1.98% ท่ามกลางความกังวลผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล Trump 2.0 ต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนและยุโรป นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในช่วงระยะสั้นก็ออกมาไม่สดใสนัก เช่นเดียวกันกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ อย่าง ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี และ ยูโรโซน (ZEW Economic Sentiment) เดือนพฤศจิกายน ก็ออกมาแย่กว่าคาดพอสมควร

        ในส่วนของตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงจนทะลุโซน 4.40% อีกครั้ง ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่าการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 อาจส่งผลให้ เฟดทยอยลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot พอสมควร ตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ส่วนอัตราเงินเฟ้อก็อาจชะลอลงช้า หรือ เร่งตัวขึ้น ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นเข้าสู่โซนที่น่าสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อประเมินความเสี่ยงและโอกาส ในกรณีที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นหรือลดลงราว 50bps (0.5%) ซึ่งจะเห็นได้ว่าในเชิงของผลตอบแทนรวม (Total Return) การทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในช่วงที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นพอสมควรนั้น ก็ยังมี Risk-Reward ที่น่าสนใจ ทำให้ผู้เล่นในตลาดสามารถทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นได้

        ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นบ้าง หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งมีส่วนเร่งการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) จนเกือบแตะโซน 155 เยนต่อดอลลาร์ ตามส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กับญี่ปุ่น ที่กว้างมากขึ้น และแม้ว่าเงินดอลลาร์จะยังได้แรงหนุนจากมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า Dot Plot ล่าสุด ทว่าผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์ออกมาบ้าง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซน 106 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 105.7-106.2 จุด) ซึ่งการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ก็ถือว่าใกล้เคียงกับที่เราได้ประเมินไว้ในบทวิเคราะห์ค่าเงินบาทเดือนพฤศจิกายน สำหรับกรณี Republican Trifecta ทำให้เราประเมินว่า เริ่มมีโอกาสที่เงินดอลลาร์อาจเริ่มชะลอการแข็งค่าขึ้นและทยอยแกว่งตัวในกรอบ Sideways ได้ ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่า ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) จะมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นทะลุโซน 2,620 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่จังหวะการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ และแกว่งตัวแถวโซน 2,600-2,610 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งอาจพอเป็นแนวรับระยะสั้นได้

        สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ ในเดือนตุลาคม โดยบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI อาจยังคงอยู่แถวระดับ 2.6% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI ซึ่งไม่รวมผลของราคาอาหารและพลังงาน ก็อาจยังอยู่แถว 3.3% ซึ่งหากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างกังวลมากขึ้น ว่า เฟดอาจยิ่งชะลอการลดดอกเบี้ยและอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าที่ระบุไว้ใน Dot Plot ล่าสุดพอสมควร ทั้งนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด โดยเฉพาะหลังรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ และรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุด

        สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าลงของเงินบาทนั้นยังคงมีกำลังอยู่ โดยเฉพาะหลังเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้านที่เราประเมินไว้ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวต้านเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน (หากเงินบาทยังสามารถอ่อนค่าลงทะลุโซนดังกล่าวได้ ก็มีโอกาสอ่อนค่าได้ถึง 35.20-35.30 บาทต่อดอลลาร์) อย่างไรก็ดี จากการประเมิน การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ต่างๆ อีกทั้งฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในช่วงหลังตลาดรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2016 (Trump 1.0) ซึ่งผลการเลือกตั้งก็คล้ายกับภาพในปัจจุบัน ทำให้เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มมีแนวโน้มชะลอลงบ้าง โดยเฉพาะเมื่อเข้าใกล้โซนแนวต้านสำคัญ นอกจากนี้ เรามองว่า แรงขายสินทรัพย์ไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติอาจเริ่มชะลอลง โดยล่าสุด เริ่มเห็นการกลับเข้าซื้อหุ้นไทยบ้างจากนักลงทุนต่างชาติในวันก่อนหน้า นอกจากนี้ หากราคาทองคำยังพอมีจังหวะรีบาวด์ขึ้นได้ ก็อาจพอช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้บ้าง

        อย่างไรก็ดี ควรระวังแรงกดดันเงินบาทจากการอ่อนค่าของเงินหยวนจีน (CNY) ในระยะสั้นเช่นกัน เนื่องจากในช่วงนี้ เงินหยวนจีนได้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงินบาทมากพอสมควร (Correlation 30 วัน สูงราว 83%) ซึ่งเงินหยวนจีนก็อาจยังคงถูกกดดันจากความกังวลผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนจากนโยบายรัฐบาล Trump 2.0 ได้ จนกว่าตลาดจะมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนมากขึ้น ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือนของจีนในสัปดาห์นี้ด้วยเช่นกัน

        ทั้งนี้ ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลอัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เพราะหากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของ Core CPI ไม่ได้ชะลอลงชัดเจน หรือปรับตัวสูงขึ้นกว่าคาด ก็อาจยิ่งกดดันให้ผู้เล่นในตลาดกังวลว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่าใน Dot Plot หนุนให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ทว่า ภาพดังกล่าวก็รับรู้โดยผู้เล่นในตลาดไปมากแล้ว ทำให้เรากังวลในกรณีที่อัตราเงินเฟ้อ CPI อาจชะลอลงกว่าคาด ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นในตลาดมีการปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟดได้ กดดันให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีโอกาสย่อตัวลง

        ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

        มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.65-35.00 บาท/ดอลลาร์ (ความระวังความผันผวนในช่วงทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ)

 

 


คลิปวิดีโอ