นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีปิดการศึกษาอบรมหลักสูตรวิทยาการประกันภัยระดับสูง (วปส.) รุ่นที่ 12 ประจำปี 2567 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 ตุลาคม 2567 ณ Pullman Phuket Karon Beach Resort จังหวัดภูเก็ต โดยหลักสูตรดังกล่าวมีผู้เข้าอบรมประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และธุรกิจประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 144 คน ซึ่งตลอดหลักสูตรมีการอบรม แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในชั้นเรียนและเข้าศึกษาดูงานทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งร่วมทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) ตลอดจนจัดทำรายงานการศึกษากลุ่ม (Group Project : GP) ในหัวข้อต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อระบบประกันภัยของไทยอีกด้วย
ทั้งนี้ การจัดทำรายงานการศึกษากลุ่ม (Group Project : GP) เป็นกิจกรรมที่หลักสูตรฯ ให้ความสำคัญและกำหนดให้นักศึกษาทุกคนเข้าร่วม เพื่อช่วยกันระดมความคิดและแบ่งปันประสบการณ์ในแง่มุมต่าง ๆ มานำเสนอในรูปแบบรายงานวิชาการ โดยในการปิดหลักสูตร วปส. รุ่นที่ 12 ครั้งนี้ ได้กำหนดให้ผู้เข้ารับการอบรมนำเสนอรายงานการศึกษากลุ่ม GP และตอบข้อซักถามแก่คณะอาจารย์ที่ปรึกษา ประกอบด้วยอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และผู้บริหารระดับสูงของสำนักงาน คปภ.
สำหรับรายงานวิชาการแบ่งเป็น 6 กลุ่ม 6 หัวข้อ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 หัวข้อ “ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการส่งเสริมการประกันภัยความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในประเทศไทย” ความสำคัญของการประกันภัยความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Liability Insurance : ELI) เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในภาคอุตสาหกรรมของไทย ช่วยลดผลกระทบทางการเงินและกฎหมายจากเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
กลุ่มที่ 2 หัวข้อ “การพัฒนากรอบธรรมาภิบาล AI สำหรับธุรกิจประกันภัย” เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจประกันภัย การจัดทำกรอบธรรมาภิบาล AI ที่มีประสิทธิภาพและครอบคลุมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า AI จะถูกนำมาใช้ในลักษณะที่รับผิดชอบและเป็นธรรม โดยมีการเสนอแนะแนวทางในการกำกับดูแลและบริหารจัดการ AI ที่สามารถประยุกต์ใช้ในธุรกิจประกันภัย ที่คำนึงถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ AI รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ซึ่งการนำ AI มาใช้ในธุรกิจประกันภัยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ กลุ่มที่ 3 หัวข้อ “การพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในกรมธรรม์และเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้อย่างครบถ้วน : กรณีประกันภัยสุขภาพ” การเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้ประชาชนรู้จักและซื้อประกันภัยสุขภาพมากขึ้น แต่หลังจากวิกฤตคลี่คลายลง จำนวนการซื้อประกันภัยสุขภาพกลับลดลง เนื่องจากผู้ถือกรมธรรม์ประสบปัญหาเกี่ยวกับการเข้าใจเนื้อหาและเงื่อนไขของกรมธรรม์ ส่งผลให้ไม่สามารถใช้สิทธิ์ตามที่กำหนดไว้ได้อย่างเต็มที่ ทางกลุ่มได้ศึกษาถึงสภาพปัญหาของผู้ถือประกันภัยสุขภาพในเรื่องความเข้าใจในเนื้อหาของกรมธรรม์ สิทธิประโยชน์ และเงื่อนไขต่าง ๆ ตามข้อกำหนดในกรมธรรม์ และหาเครื่องมือโดยเน้นการใช้เทคโนโลยี AI เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจในเนื้อหาของกรมธรรม์และเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือกรมธรรม์ บริษัทประกันภัย และหน่วยงานกำกับดูแลในอนาคต กลุ่มที่ 4 หัวข้อ “โครงงานศึกษาแพลตฟอร์มให้บริการวิเคราะห์ความต้องการและแนะนำผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้เหมาะสมเฉพาะบุคคล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ Insurance Penetration Rate ในไทย ได้แก่ การขาดความรู้ ความเข้าใจ การเข้าถึงข้อมูล และความสามารถทางการเงิน โครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัยที่ไร้บุตรหลาน อีกทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจครอบครัวและการวางแผนการเงินในระยะยาว ทางกลุ่มจึงเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มที่สามารถวิเคราะห์และแนะนำผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่เหมาะสมเฉพาะบุคคล เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและความเข้าใจในประกันชีวิตของประชาชน กลุ่มที่ 5 หัวข้อ “การส่งเสริมสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจประกันสุขภาพ (ภาคสมัครใจ) เพื่อรองรับการแข่งขันในภูมิภาคเอเชีย” โดยเล็งเห็นว่าประกันภัยสุขภาพภาคสมัครใจ มีประโยชน์ในการบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพ ช่วยให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ลดภาระงบประมาณของรัฐ แต่อัตราการทำประกันภัยสุขภาพในไทยยังต่ำ เนื่องจากเบี้ยประกันภัยสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทางกลุ่มจึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเสริมสร้างธุรกิจประกันชีวิตโดยการลดค่าใช้จ่ายและส่งเสริมการทำประกันภัยภาคสมัครใจ และกลุ่มที่ 6 หัวข้อ “การสร้างความตระหนักในการพัฒนาความร่วมมือในธุรกิจประกันภัยระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อลดช่องว่างความคุ้มครองจากภาวะสูงอายุเพื่อการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน” ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมสูงอายุที่ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการจัดการสุขภาพและค่าใช้จ่ายในการยังชีพของผู้สูงอายุ การศึกษาพบว่ามีช่องว่างความคุ้มครองด้านประกันภัยที่สำคัญ เช่น สวัสดิการจากรัฐไม่เพียงพอ ขาดความรู้และความตระหนักในการวางแผนก่อนเกษียณ และความไม่พอใจในความคุ้มครองของประกันภัยที่มีอยู่ ดังนั้น ทางกลุ่มจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาสังคมสูงอายุ และการสร้างความตระหนักรู้ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการประกันภัยเพื่อการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน
ภายหลังจากรับฟังการนำเสนอรายงานการศึกษากลุ่ม คณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. และนักศึกษา วปส. รุ่นที่ 12 ร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) โดยร่วมบริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภคของนักศึกษา ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่ม อุปกรณ์การเรียน เครื่องเขียน และเงินจำนวน 348,035.59 บาท ณ โรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล
“ต้องขอชื่นชมนักศึกษา วปส. รุ่นที่ 12 ที่ได้ทุ่มเทความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการค้นคว้าและนำเสนอรายงานวิชาการ โดยทั้ง 6 เรื่อง ล้วนเป็นประเด็นร่วมสมัย และผลการศึกษาจะเป็นประโยชน์แก่อุตสาหกรรมประกันภัยและประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผมและอาจารย์ที่ปรึกษาได้ซักถามและให้ข้อแนะนำต่าง ๆ เพื่อให้นำไปปรับปรุงรายงานวิชาการให้ดียิ่งขึ้น และจะได้มีการประชุมเพื่อคัดเลือกสุดยอดรายงานวิชาการดีเด่นเพื่อนำเสนอในงานสัมมนาวิชาการของสำนักงาน คปภ. ต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย