กรมชลประทาน ลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ติดตามความก้าวหน้างานสำรวจ ออกแบบ โครงการคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย ระยะที่ 1 ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำยั่งยืน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก รับมือภาวะภัยพิบัติ อุทกภัยและภัยแล้ง ลดผลกระทบความเดือดร้อนประชาชน
วันที่ 27 ตุลาคม 2564 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน นำคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า “งานสำรวจ ออกแบบ โครงการคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย ระยะที่ 1 จังหวัดฉะเชิงเทรา” พร้อมเดินทางไปสำรวจโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ และโครงการบริเวณอ่าวไทย ต.คลองสอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งทั้งสองโครงการ เป็นโครงการที่สำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา
นายเฉลิมเกียรติ กล่าวว่า จากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ปี 2554ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เกษตรกรรม ชุมชน และพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศ ผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง มีแนวโน้มให้เกิดน้ำท่วมบ่อยขึ้น จากปริมาณฝนที่ตกในปัจจุบัน เห็นได้ว่าปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศของปี 2564 สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 9% ช่วงวันที่ 24-26 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ จากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ น้ำเหนือที่ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นน้ำป่าที่ไหลมาจากเทือกเขาใน จ.เพชรบูรณ์ ลพบุรีและชัยภูมิ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนป่าสักฯ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (ปริมาณน้ำในเขื่อน ณ วันที่ 1 ต.ค. สูงสุดในรอบ 4 ปี) ทำให้กรมชลประทานต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อน ทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำป่าสักใน จ.สระบุรี และ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นการลดปริมาณน้ำที่กระทบบริเวณ อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง อ.พระนครศรีอยุธยา และ อ.บางไทร จึงผันน้ำบางส่วนออกทางคลองระพีพัฒน์ ผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ลงสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ เพื่อสูบออกแม่น้ำบางปะกงและอ่าวไทย
โครงการคลองระบายน้ำหลากฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอีกโครงการหนึ่งในแผนหลักของแผนการบรรเทาอุทกภัยในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง จำนวน 9 แผน ระยะเวลาดำเนินการ 13 ปี(2560-72) กรอบวงเงินประมาณ 329,151 ล้านบาท เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทั้ง 9 แผน จะทำให้การแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาน้ำท่วมหนักอย่างเช่นปี 2554 จะไม่เกิดขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ทั้งในสภาวะปกติและวิกฤติ โดยการตัดยอดน้ำหลากที่จะไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาได้สูงถึง 1,000 ลบ.ม./วินาที ด้วยการพัฒนาปรับปรุงคลองชัยนาท-ป่าสัก ร่วมกับการก่อสร้างคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย เพื่อเร่งระบายลงสู่อ่าวไทย
”คลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย เป็นคลองขุดใหม่ เพิ่มศักยภาพการระบายน้ำหลากจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก รวมถึงพื้นที่บริเวณริมคลองระบายน้ำ ที่มีความยาวประมาณ 135.9 กิโลเมตร ระบายน้ำหลากได้ 600 ลบ.ม./วินาที เท่ากันตลอดทั้งคลอง ปัจจุบันโครงการนี้อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ (ตามผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และมีแผนดำเนินการก่อสร้างในปี 2568 -2572) นอกจากจะเป็นการช่วยตัดยอดน้ำหลากได้แล้ว ยังสามารถเก็บน้ำในคลองไว้แก้แล้งได้อีก 57.4 ล้าน ลบ.ม.แนวคลองระบายน้ำหลาก เริ่มโครงการตั้งแต่แม่น้ำป่าสัก บริเวณ ต.เริงราง อ.เสาไห้ จ.สระบุรี ผ่านพื้นที่ 38 ตำบล 11 อำเภอใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย จ.สระบุรี นครนายก ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ ” นายเฉลิมเกียรติ กล่าว
สำหรับงานสำรวจและออกแบบโครงการคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย ระยะที่ 1 ประกอบด้วย1.งานออกแบบเขื่อนทดน้ำป่าสัก(เขื่อนพระรามหกใหม่) และทำนบดินปิดแม่น้ำป่าสัก ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.เริงราง อ.เสาไห้ จ.สระบุรี
2.คลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย เริ่มตั้งแต่ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นคลองดาดคอนกรีต ท้องคลองกว้าง 70 เมตร ความลึกน้ำ 6 เมตร พื้นที่เขตคลองที่ใช้ก่อสร้างคลองระบาย ถนนคันคลอง และร่องระบายน้ำริมคลอง กว้างรวม 200 เมตร (กม.81+000 – กม.134+350) จนถึงช่วงท้าย (กม.135+350-กม.135+900) ท้องคลองจะขยายกว้างออก 590 เมตร เขตคลองกว้างรวม 690 เมตร เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยบริเวณ ที่ตำบลสองคลอง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีถนนเลียบคลองทั้งสองข้าง ขนาด 2 ช่องจราจร กว้าง 10 เมตร ปริมาณน้ำระบายผ่านคลอง 600 ลบ.ม./วินาที พร้อมออกแบบอาคารประกอบต่าง ๆ เช่น ประตูระบายน้ำกลางคลอง และประตูระบายน้ำปลายคลอง อาคารเชื่อมจุดตัดคลอง ซึ่งเป็นอาคารท่อระบายน้ำและไซฟอน 14แห่ง อาคารเชื่อมจุดตัดคลองพร้อมประตูเรือสัญจร จำนวน 5 แห่ง ในบริเวณ จุดตัดคลองนครเนื่องเขต จุดตัดคลองประเวศบุรีรัมย์ จุดตัดคลองสำโรง จุดตัดคลองปีกกา และจุดตัดคลองชายทะเล เป็นต้น
พร้อมทั้งออกแบบสะพานรถยนต์ 15 แห่ง และสะพานรถไฟ 1 แห่ง ข้ามคลองระบายน้ำหลาก ณ จุดที่แนวคลองตัดผ่านเส้นทางคมนาคมบริเวณประตูระบายน้ำกลางคลอง ออกแบบมีการนำอัตลักษณ์มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง เป็นของดีเมืองแปดริ้วมาเป็นจุดเด่น และในส่วนของประตูระบายน้ำปลายคลองระบายน้ำป่าสัก-อ่าวไทย ออกแบบโดยนำอัตลักษณ์ ปลาสลิดบางบ่อของดีเมืองสมุทรปราการ มาเป็นส่วนประกอบ ส่วนงานออกแบบเขื่อนทดน้ำป่าสักจะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ให้เป็นสถานที่พักผ่อน ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมต่างๆ ให้กับประชาชนในพื้นที่ หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จจะสามารถช่วยลดการเกิดปัญหาอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก สร้างความเชื่อมันให้กับนักลงทุนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนี้ถนนทั้งสองฝั่งคลองมีความสะดวกมากขึ้นสามารถขนส่งผลผลิตทางการเกษตรทางการเกษตรได้รวดเร็ว ตลอดจนยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่อีกด้วย