นายวรยุทธ กิตติอุดม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีเนกซ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) Zenex Property (RK) และอุปนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรีนั้น ว่าตลาดโดยรวมในระยะสั้นจะไม่ได้รับผลกระทบอะไร เนื่องจากมีกลไกกระตุ้นภาคอสังหาฯ ของประเทศหลายอย่างที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว และอยู่ในขั้นตอนที่จะนำมาใช้ในอนาคต และเชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีและรัฐบาลใหม่ยังคงให้ความสำคัญกับภาคอสังหาฯ เพราะมีส่วนช่วยให้ GDP ของประเทศเติบโตขึ้น
“โจทย์หลักในขณะนี้คือความเร็วในการผลักดันให้นโยบายและโครงการต่างๆ ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเกิดเป็นรูปธรรม รวมถึงการพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในวาระต่อไป ให้เดินหน้าต่อไปโดยไม่สะดุดเนื่องจากภาวะสุญญากาศทางการเมือง ดังนั้นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำไปสู่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และสามารถจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ทั้งหมดจะต้องเกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด”
นายวรยุทธ กล่าวเสริมว่า การสร้างโอกาสให้คนไทยได้มีที่อยู่อาศัยของตัวเองเป็นภารกิจของรัฐบาลไม่ว่าจะมาจากพรรคการเมืองใดก็ตาม ดังนั้นทุกปีจึงมีมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ทั้งในฝั่งดีมานด์และซัพพลายเชนของอุตสาหกรรม อย่างที่เห็นกันในปีนี้ รัฐบาลก็มีมาตรการที่ช่วยให้ประชาชนได้ซื้อหรือเช่าบ้านได้มากขึ้น อาทิ การลดค่าโอนและค่าจดจำนองบ้านและอาคารชุดที่ราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท การลดหย่อนภาษีฯ สำหรับผู้ปลูกสร้างบ้านเอง หรือมาตรการด้านดอกเบี้ย ผ่านทางสถาบันการเงินของรัฐ เช่น สินเชื่อบ้าน Happy Home และ Happy Life ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ และสินเชื่อบ้านธนาคารออมสิน หรือโปรโมชัน ‘ตามใจเลือกตามชอบ’ ของการเคหะแห่งชาติ หรือโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 3 ไปจนถึงมาตรการผ่อนคลาย LTV หรือล่าสุด ธนาคารอาคารสงเคราะห์ยังได้จัดทำ ‘โครงการสินเชื่อบ้าน DD (ดี๊ดีย์)’ สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อบ้านหรืออาคารชุดกับดีเวลอปเปอร์ที่มีข้อตกลงร่วมกับธนาคารฯ โดยได้รับดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก 2.80%
“สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่เข้าสู่ครึ่งปีหลังของปี 2567 ระดับดีมานด์ที่อยู่อาศัยในตลาดยังคงลดลง ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการทุกระดับ โดยเฉพาะกลุ่มอาคารชุดและบ้านแนวราบที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งปัญหาหลักที่ยืดยาวมาตลอดช่วงสิบปีที่ผ่านมาคือเรื่องหนี้ครัวเรือน จนปัจจุบันมีอัตราสูงกว่า GDP ของประเทศ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็ยังเป็นโอกาสที่ดีของคนที่ต้องการซื้อบ้าน เพราะค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับเป็น 600 บาท ยังไม่ประกาศใช้ ทำให้ต้นทุนวัสดุและค่าแรงงานก่อสร้างยังไม่ถูกปรับขึ้น ราคาบ้านก็ยังไม่ถูกปรับตาม ประกอบกับการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการค่อนข้างเข้มข้น ทำให้ผู้ซื้อได้เปรียบในการเลือกซื้อบ้านที่มีคุณภาพที่ดี ในราคาที่ยังไม่สูงมากนัก“
“โดยส่วนตัวมั่นใจว่ารัฐบาลใหม่จะยังคงยกประเด็นหนี้ครัวเรือนเป็นวาระสำคัญ และจะให้ความสำคัญกับการที่คนไทยได้เป็นเจ้าของบ้านได้ง่ายขึ้น ในราคาที่เหมาะสม เพื่อเป็นหลักประกันคุณภาพชีวิตของคนไทยที่ดีขึ้น นอกจาก นี้ ยังหวังว่าธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์จะร่วมกันพิจารณาลดดอกเบี้ยหรือกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ระยะยาว เพื่อช่วยลดภาระและเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้กู้ในการผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทั้งยังช่วยให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อย เข้าถึงแหล่งเงินทุนและช่วยลดภาระหนี้” นายวรยุทธ กล่าวทิ้งท้าย