บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด จับมือ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือทางวิชาการ “ยกระดับคุณภาพหลักสูตรการศึกษาด้านพาณิชยศาสตร์และการบัญชีในระดับอุดมศึกษา” ซึ่งมีระยะ 3 ปี เพื่อส่งเสริมความสามารถของสถาบันการศึกษาในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพและพร้อมเข้าสู่โลกแห่งการทำงานจริง ผ่านการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ โครงการฝึกงาน ตลอดจนความร่วมมือในโครงการวิชาการต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ความท้าทายเชิงธุรกิจที่เกิดขึ้นจริง ณ ห้องประชุม 500 ชั้น 5 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา
นางสาวณัฏฐณิชา วรวรรณเศรษฐ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายสนับสนุนการบริหารงานในองค์กร ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด ประเทศไทยและอินโดไชน่า เปิดเผยว่า จากค่านิยม “Giving Back to Society” ของบริษัทฯ ที่มุ่งตอบแทนสิ่งดี ๆ กลับคืนสู่สังคม และเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่มุ่งยกระดับสุขภาพและสุขภาวะ (Good Health and Well-Being) ของประชากรไทย บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษา ในฐานะพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้เยาวชนประสบความสำเร็จในโลกแห่งการประกอบอาชีพ และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในอนาคต ผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการศึกษาและพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา จึงนำไปสู่การลงนาม MOU ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อบูรณาการประโยชน์จากความเป็นเลิศด้านวิชาการของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ากับความเชี่ยวชาญและความเป็นมืออาชีพทางธุรกิจของ ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) ผู้นำในธุรกิจด้านอาหารเสริมสุขภาพของเอเชีย ภายใต้เครื่องหมายการค้าตราแบรนด์ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การสร้างเสริมทักษะเชิงปฏิบัติและประสบการณ์เชิงลึกที่ตรงกับความต้องการจริงของโลกธุรกิจให้กับนักศึกษา ตลอดจนสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อยกระดับองค์รวมความรู้ด้านการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
“ในปัจจุบัน เทรนด์ทางสังคมและเศรษฐกิจทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น องค์กรชั้นนำขนาดใหญ่จึงต้องการทรัพยากรบุคคลที่มีทักษะหลากหลายมิติ ทั้งทักษะเชิงเทคนิคเฉพาะทางที่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรง (Hard Skills) ควบคู่กับทักษะเชิงสังคมที่จำเป็นต่อการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Soft Skills) อาทิ การสื่อสาร ทัศนคติ การทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บุคลากรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข โดยทางบริษัทจะรับนักศึกษาในปีการศึกษาที่สองสุดท้ายหรือปีสุดท้ายของการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาฝึกงานในแผนกต่าง ๆ เช่น การตลาด การเงิน ทรัพยากรบุคคล การดำเนินงาน การวิจัยและพัฒนา ห่วงโซ่อุปทาน และการขาย เป็นเวลา 4 เดือน ตลอดจนเปิดโอกาสด้านการเยี่ยมชมดูงานในสถานที่ต่าง ๆ ของบริษัท และการพบปะกับผู้บริหารระดับสูง เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง และจุดประกายด้านความคิดให้กับนักศึกษาภายใต้โครงการความร่วมมือ เสริมสร้างโอกาสให้น้อง ๆ ได้นำองค์ความรู้ในห้องเรียนมาปรับใช้ในการทำงานจริง และเตรียมพร้อมในการก้าวสู่การทำงานในสายอาชีพนี้ในอนาคต”
รศ.ดร.สมชาย สุภัทรกุล คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้นำทางสถาบันการศึกษาและการวิจัยด้านการบัญชีและบริหารธุรกิจ เห็นความสำคัญของความร่วมมือในครั้งนี้ที่จะช่วยผลักดันและเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษา ผ่านการเรียนรู้จากผู้นำทางธุรกิจและสถานประกอบการจริง เพื่อนำองค์ความรู้ ทักษะเชิงปฏิบัติ และประสบการณ์ที่ได้รับกลับมาบูรณาการกับสิ่งที่เรียนรู้ในมหาวิทยาลัย ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษา ผ่านการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับบุคลากรของบริษัท และการพูดคุยกับผู้บริหาร เพื่อสะท้อนมุมมองทางด้านธุรกิจในปัจจุบัน ตลอดจนความร่วมมือในด้านอื่น ๆ ที่ช่วยส่งเสริมทักษะและประสบการณ์ทางด้านธุรกิจ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารธุรกิจและบัญชีที่มีคุณภาพ เพื่อความสำเร็จร่วมกันของภาคการศึกษาและภาคเอกชนต่อไปในอนาคตตอบรับกับวิสัยทัศน์ ‘เพื่อบ่มเพาะผู้นำแห่งอนาคตที่จะกำหนดทิศทางของธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน’”
นอกจากนี้ยังส่งเสริมความร่วมมือในมิติของการสนับสนุนผลลัพธ์ทางวิชาการ เช่น การแข่งขันทางวิชาการโครงการวิชาการเพื่อสังคมที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม รวมทั้ง โครงการความร่วมมือด้านวิชาการเพิ่มเติมอื่น ๆ ตามที่ตกลงกันอีกด้วย
สำหรับเกณฑ์ทั่วไปในการคัดเลือกนักศึกษาเพื่อเข้าร่วมโครงการฝึกงานของบริษัทฯ นักศึกษาจะต้องอยู่ในปีการศึกษาที่สองสุดท้ายหรือปีสุดท้ายของการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท เพื่อเข้าฝึกงานในแผนกต่าง ๆ เช่น การตลาด การเงิน ทรัพยากรบุคคล การดำเนินงาน การวิจัยและพัฒนา ห่วงโซ่อุปทาน และการขาย เป็นเวลา 4 เดือน ในช่วงเวลาตรงกับภาคการศึกษา โดยนักศึกษาจะถูกคัดเลือกตามผลการเรียนรายวิชาที่เกี่ยวข้อง ทักษะและความสามารถ และกระบวนการสัมภาษณ์
จากผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ในเดือนมิถุนายน 2567 มีจำนวนผู้ว่างงาน 3.79 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 ลดลง 1.03 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ว่างงานในเดือนพฤษภาคม 2567 ที่มีจำนวน4.82 แสนคน โดยมีผู้เรียนจบในระดับอุดมศึกษาเป็นผู้ว่างงานมากที่สุด จำนวน 1.39 แสนคน รองลงมาคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีจำนวนเท่ากันกับระดับระดับ ปวช./ ปวส. จำนวน 0.72 แสนคน และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 0.55 แสนคน ด้วยการให้ความสำคัญกับการเป็นผู้นำภาคเอกชนที่เป็นส่วนหนึ่งของพลังการขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการศึกษาของประเทศ บริษัทฯจึงสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่หลากหลายเพื่อให้การสนับสนุนอย่างรอบด้านและครอบคลุมนักศึกษาในวงกว้าง เช่น การลงนาม MOU กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการเข้าร่วมประชุม the Annual Business Administration Advisory Board Meeting ที่จัดขึ้นโดยภาควิชาบริหารธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (MUIC) ที่สร้างเวทีการหารือแผนงานเชิงกลยุทธ์สำหรับผู้นำภาคการศึกษาและภาคเอกชนในการร่วมกันออกแบบการศึกษาด้านธุรกิจในอนาคต และสร้างหลักประกันให้หลักสูตรการศึกษาสามารถสร้างบุคลากรที่ตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรมผ่านการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI