วันอังคาร ที่ 26 พฤศจิกายน 2567 05:53น.

กรุงเทพประกันภัย มั่นใจสิ้นปีกำไร 3 พันล้านสูงสุดในรอบ 76 ปี

12 ธันวาคม 2023

 

        กรุงเทพประกันภัย โชว์ผลงานชิ้นโบว์แดง 9 เดือนแรกของปี 2566 โกยเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 21,982 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.5% กำไรสุทธิ 2,546 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 217.3% มีกำไรที่สูงที่สุดในรอบ 76 ปีมั่นใจปิดสิ้นปีกำไรเกิน 3 พันล้านบาท คาดปีหน้าเบี้ยรับรวมแตะ 3.24 หมื่นล้านบาท เติบโต 8% พอร์ตอีผลักดันเบี้ย แต่ไม่แข่งราคา ได้แรงหนุนเบี้ยทรัพย์สินเพิ่มอีก 5% แต่ห่วง “หนี้ครัวเรือน-เอสเอ็มอี” กระทบการทำประกัน

        ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI เปิดเผยว่า ผลประกอบการช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 21,982 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.5% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) มีกำไรสุทธิ 2,546 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 217.3% YOY ซึ่งถือเป็นผลกำไรที่สูงที่สุดแล้วหากเทียบช่วง 9 เดือนแรกในรอบ 76 ปีของการดำเนินธุรกิจปิดสิ้นปีนี้ กำไรเกิน 3 พันล้าน และคาดการณ์ว่าปิดสิ้นปีนี้ บริษัทน่าจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเป้าเบี้ยรับรวมไว้อยู่ที่ 30,000 ล้านบาท มีกำไรสุทธิเกินระดับ 3,000 ล้านบาท

        “ปีนี้เราตั้งเป้าโต 12.5% ซึ่งถือว่าเป็นปีที่มีการเติบโตแบบ Aggressive ซึ่งที่เราสามารถตั้งเป้าลักษณะนี้ได้ เพราะว่าสถานการณ์หลายอย่างเอื้ออำนวย จากเหตุการณ์โควิดมีบริษัทประกันภัยล้มหายไป มีความเปราะบางอยู่ เพราะฉะนั้นพอร์ตที่ยังอยู่ก็เริ่มเดินเข้ามาหาบริษัทที่มั่นคง ซึ่งกรุงเทพประกันภัยเป็นหนึ่งในนั้น จึงสนับสนุนให้เบี้ยประกันของบริษัทเติบโตขึ้น

        สำหรับปีนี้ บริษัทฯ มีเบี้ยประกันภัยรถยนต์ (Motor) ของบริษัทเติบโตสูงถึง 14.5% ในขณะที่อุตสาหกรรมโตกว่า 4% เท่านั้น ภาพรวมยอดขายรถยนต์ปีนี้โตติดลบ ในส่วนเบี้ยประกันภัยทรัพย์สิน (IAR) ของบริษัทเติบโตถึง 20% เป็นอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมฯ รองจากทิพยประกันภัยที่โต 36% เนื่องจากทิพยฯมีพอร์ตงานของกลุ่ม ปตท. ซึ่งมีการขยายการก่อสร้างและการขยายงานที่เติบโตขึ้น

 

        ขณะเดียวกันปีนี้ตลาดประกันภัยต่อทั่วโลกอยู่ในภาวะตลาดแข็งตัว (Hard Market) ค่อนข้างมาก ส่งผลให้เบี้ย IAR เติบโตขึ้นเกือบ 20-30% ในการปรับเพิ่มเบี้ยต่ออายุอยู่แล้ว จึงส่งผลให้บริษัทที่เป็นผู้รับประกันภัยทรัพย์สินรายใหญ่มีเบี้ยส่วนนี้เติบโตเพิ่มขึ้น”

        ดร.อภิสิทธิ์ กล่าวถึงมุมมองปี 2567 ว่า ยังคงมีความมุ่งมั่นจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าเบี้ยรับรวมจะเติบโตขึ้น 8% หรือมีเบี้ยรับรวมแตะระดับ 32,400 ล้านบาท โดยปรัชญาในการบริหารจะต้องสร้างดุลยภาพระหว่างการเติบโตของเบี้ยรับรวมและการสร้างความมั่นคงเข้มแข็งของผลกำไรธุรกิจ

        โดยพอร์ตที่จะเป็นตัวผลักดันหลักคือ ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เพราะเป็นเทรนด์อนาคต โดยปีนี้มียอดรถอีวีจดทะเบียน 100,000 คัน เติบโตขึ้น 10 เท่าจากปีที่แล้ว (ยอดจดทะเบียนแค่ 10,000 คัน) และเชื่อว่าปีหน้าคงจะมีการเติบโตต่อเนื่อง เพราะโรงงานบีวายดีสำเร็จแล้ว และฉางอานก็เข้ามาบุกตลาด โดยใช้โรงงานนิคมอุตสาหกรรมของ WHA ซึ่งน่าจะมีรถอีวีออกสู่ตลาดมากขึ้น

        แต่รถอีวีสิ่งที่ต้องคิดคือ หลายบริษัทประกันภัยมองเป็นโอกาสเข้ามาแข่งขันแย่งชิงเค้กก้อนนี้ ซึ่งการแย่งชิงเค้กในตลาดประกันภัยไทยใช้กลไกทางราคา โดยจากข้อมูลตลาดโลกพบว่าเบี้ยประกันรถอีวีในตลาดญี่ปุ่นมีอัตราสูงกว่าเบี้ยประกันรถสันดาป 10-20% และในตลาดอเมริกาสูงถึง 25% แต่ในประเทศไทยเบี้ยรถอีวีจะต่ำกว่าเบี้ยรถสันดาปแล้ว

        โดยปัจจุบันอัตราความเสียหายหรือเคลมสินไหม (Loss Ratio) ของรถอีวี ทุกบริษัทมองว่าอยู่ได้ เพราะปีแรก ๆ แค่ระดับ 10-15% แต่ผ่านไป 2 ปี กระโดดขึ้นมาเป็น 40% และปีนี้ลอสเรโชเฉลี่ยของตลาดขึ้นไปเกือบ 60% แล้ว แต่ในความเป็นจริงมองว่าถ้าเบี้ยที่แข่งกันในราคาที่ต่ำ ลอสเรโชไปถึงระดับ 75-80% จะอยู่รอดไม่ได้ เพราะไม่มีกำไรแล้ว เพราะต้องจ่ายค่าคอมมิชชั่นอีก 18%

       “ถามว่าทำไมรถอีวีลอสเรโชถึงสูง แน่นอนที่สุดคือ เวลาเสียหายต่อตัวแบตเตอรี่ ต้องเปลี่ยนอย่างเดียว และมูลค่าแบตเตอรี่คิดเป็น 50-60% ของมูลค่ารถยนต์ ซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนที่เป็นหัวใจหลักของรถอีวี เพราะหากเสียหายเกือบจะเป็นความเสียหายโดยสิ้นเชิง (Total Loss) และตีเป็นค่าซากได้น้อยมากและรถอีวีไม่มีอู่ซ่อมทั่วไป ต้องซ่อมศูนย์เท่านั้น ซึ่งค่าแรงค่าอะไหล่แพง จึงยิ่งกดดันให้ลอสเรโชมีโอกาสจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนการแข่งขันชิงพอร์ตรถอีวียังมีความเปราะบาง” ดร.อภิสิทธิ์ กล่าว

       สำหรับกรุงเทพประกันภัยไม่ใช่ไม่เข้าร่วมชิงเค้กก้อนนี้ แต่พยายามไม่กระโดดเข้าไปแข่งขันเหมือนอย่างที่กำลังทำกันอยู่ เช่น มีบางบริษัทออกแคมเปญให้เบี้ยคงที่แล้วทำประกันต่อเนื่อง 2 ปี ซึ่งมองเป็นจุดเปราะบาง เพราะปีนี้ลอสเรโชของตลาดขึ้นมาระดับ 57% บางบริษัทขึ้นไปแตะ 60% แล้ว ซึ่งถ้าปรับเบี้ยไม่ได้โอกาสลอสเรโชขึ้นไป 70% แทบจะไม่เหลือมาร์จิ้นแล้ว

        เพราะฉะนั้นอีวีเป็นจุดผลักดันให้พอร์ตประกันรถยนต์มีโอกาสเติบโต แต่ยังมีความเปราะบางในภาคส่วนของประกันภัย เพราะการแข่งขันเบี้ยทำให้ผลประกอบการไม่น่าจะเป็นบวกในระยะยาว แต่ตอนนี้พอไปได้เพราะคนยังใช้รถอีวีน้อย ไม่กล้าออกต่างจังหวัดไกล ๆ เพราะกลัวหาแท่นชา์จแบตเตอรี่ยาก เป็นต้น

        ขณะเดียวกันเบี้ยประกันภัยทรัพย์สินที่ยังคงอยู่ในอัตราที่สูง และมองว่าปีหน้าอาจจะขยับตัวเพิ่มขึ้นไปอีกย่างน้อย 5% ก็จะสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยได้ประโยชน์จากการปรับเบี้ยตรงส่วนนี้ด้วย

        อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเป้าหมายที่วางไว้มีความท้าทายสูงมาก เพราะว่าความเปราะบางในเชิงเศรษฐกิจโลกมีค่อนข้างสูง ส่วนภาพเศรษฐกิจไทยอ้างอิงคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คาดว่า GDP ของไทยปีหน้าจะเติบโต 3.7-3.8% (รวมมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท) และปีนี้คาดโต 2.4-2.5%

        ด้านภาพเงินเฟ้อน่าจะไม่สูงอย่างต่อเนื่องแล้ว เพราะทุกอย่างเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ขณะเดียวกันดอกเบี้ยที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นไปแล้ว กว่าจะถึงเวลาปรับลดลงต้องใช้เวลา 9 เดือนจนถึง 1 ปี ถึงจะส่งผลในเชิงบวกได้ เพราะฉะนั้นปัญหาคือเงินในกระเป๋ามีต้นทุนในการจับจ่ายมากขึ้น

       ส่งผลหนี้ครัวเรือนสูง โดยปีหน้าคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกราว 1-2% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 90% ของจีดีพี 


คลิปวิดีโอ