ภาคประชาสังคมเปิดคะแนนนโยบายด้านสังคมของ 8 ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย พบว่าในภาพรวมคะแนนยังต่ำอยู่ เผยเน้นทำกิจกรรม CSR แต่ไม่สนบรรจุเป็นนโยบายบริษัท แนะใช้วิธีการซื้อตรงจากเกษตรกรอย่างรับผิดชอบแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
แคมเปญ “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” เปิดผลการประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของ 8 ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในประเทศไทย ประจำปี 2562 พบว่าในภาพรวม ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยยังทำคะแนนได้ไม่ดีนัก โดยมีซูเปอร์มาร์เก็ตถึง 4 รายที่ไม่ได้คะแนนเลยในการประเมินครั้งนี้ ได้แก่ Big C, Foodland, Gourmet Market และ Villa Market โดยการประเมินครอบคลุมตัวชี้วัดย่อยใน 4 มิติด้วยกัน คือ ความโปร่งใส สิทธิแรงงาน เกษตรกรรายย่อย และสิทธิสตรี
สำหรับซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้คะแนนจากการประเมินประจำปีนี้ ได้แก่ CP Freshmart (มิติความโปร่งใส 2 คะแนน มิติสิทธิแรงงาน 6 คะแนน และมิติเกษตรกรรายย่อย 3 คะแนน) Makro (มิติความโปร่งใส 3 คะแนน มิติสิทธิแรงงาน 3 คะแนน และมิติเกษตรกรรายย่อย 4 คะแนน) Tesco (มิติความโปร่งใส 10 คะแนน มิติสิทธิแรงงาน 14 คะแนน มิติเกษตรกรรายย่อย 5 คะแนน และมิติสิทธิสตรี 6 คะแนน) และ Tops (หมวดสิทธิสตรี 1 คะแนน)
นายธีรวิทย์ ชัยณรงค์โสภณ เจ้าหน้าที่องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย เปิดเผยว่า “เราประเมินนโยบายสาธารณะด้านสังคมของซูเปอร์มาร์เก็ตรอบนี้เป็นปีที่สอง เจ้าที่ทำคะแนนได้เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว คือ CP Freshmart, Makro และ Tesco เจ้าที่ได้คะแนนเท่าเดิมคือ Tops ส่วนเจ้าที่คะแนนน้อยลงคือ Big C ลดจาก 1 เหลือ 0 คะแนนในปีนี้ เราตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะ Big C เพิ่งจะเปลี่ยนเจ้าของและออกจากตลาดหลักทรัพย์ไป ทำให้ไม่มีรายงานประจำปีเหมือนเมื่อก่อน ส่วนอีก 3 เจ้ายังไม่เคยได้คะแนนเลยตั้งแต่การประเมินปีที่แล้วครับ”
“ที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือคะแนนของ Tesco ที่เกือบทั้งหมดได้มาจากการประกาศนโยบายของบริษัทแม่ที่อังกฤษ ถ้าดูเฉพาะข้อมูลที่ปรากฎบนช่องทางของ Tesco Lotus ในไทยอย่างเดียวจะคะแนนได้น้อยมาก คือได้แค่คะแนนเดียวในมิติเกษตรกรรายย่อย และไม่ได้คะแนนเลยในมิติอื่นๆ ครับ” นายธีรวิทย์กล่าวเสริม
ด้านนางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่าประเด็นเรื่องความเป็นธรรมและยั่งยืนกำลังเป็นเทรนด์ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับโลกกำลังให้ความสำคัญกันมากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการตรวจสอบย้อนกลับเส้นทางอาหาร ใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินระดมทุนในการพัฒนาความยั่งยืน การศึกษาวิจัยว่ารายได้ที่เหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของคนที่ทำงานบนเส้นทางควรเป็นเท่าใด เป็นต้น ขณะที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในไทยกลับยังไม่ให้ความสำคัญในด้านนี้มากนัก เห็นได้จากคะแนนประเมินนโยบายด้านสังคมล่าสุดที่ภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และส่วนใหญ่ยังทำประเด็นความยั่งยืนกันในลักษณะกิจกรรมเพื่อสังคมเป็นครั้งคราวเท่านั้น ไม่ได้กำหนดไว้ในนโยบายของบริษัทเพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจหลักแต่อย่างใด
“จะเห็นว่าซูเปอร์มาร์เก็ตไทยเน้นทำกิจกรรมเพื่อสังคมหรือที่เรียกกันว่า CSR เยอะมากนะคะ เช่น โครงการรับซื้อหรือสนับสนุนให้เกษตรกรเอาผักหรือผลไม้มาขายโดยตรงซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทำแค่เป็นครั้งคราวไป และอาจจะไม่ได้มีเป้าหมายชัดเจน อาจจะดี แต่จะเลิกทำเมื่อไรก็ได้ การที่เราประเมินตัวนโยบายและเรียกร้องให้เขาบรรจุเรื่องทางสังคมเป็นนโยบายก็เพื่อให้บริษัทมีพันธสัญญาในระยะยาวที่จะต้องทำให้เส้นทางการผลิตและจำหน่ายอาหารของตัวเองดีขึ้น ถ้านโยบายดีแล้ว ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้บริหารไปอีกกี่คน นโยบายมันก็ยังอยู่ให้คนต่อๆ ไปมาสานต่อได้ค่ะ” นางสาวทัศนีย์กล่าว
ทั้งนี้ แคมเปญซูเปอร์มาร์เก็ตที่รักยังเรียกร้องให้ซูเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคแน่ใจได้ว่าการซื้อตรงจากเกษตรกรหรือ Direct Sourcing เป็นไปอย่างเป็นธรรมและรับผิดชอบ เพื่อช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยได้ยกตัวอย่างกรณีสหกรณ์ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งมีการรวมกลุ่มเกษตรกรอย่างเข้มแข็ง ส่งขายให้กับซุเปอร์มาร์เก็ตอย่างเป็นระบบ สามารถระบุที่มาของผลผลิต ตรวจสอบย้อนกลับได้ชัดเจน โดยกลุ่มเกษตรกรสามารถกำหนดราคาขายที่พอใจได้เองด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการซื้อตรงอย่างเป็นธรรมและรับผิดชอบสามารถทำได้จริงในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก ระบุว่า “แม้ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายเจ้าในประเทศไทยตอนนี้จะบอกว่ามีการซื้อตรงจากเกษตรกรแล้ว ซึ่งเราก็ยินดีนะคะ แต่แค่การซื้อตรงอย่างเดียวยังไม่สามารถเป็นหลักประกันว่าเกิดความเป็นธรรมต่อเกษตรกรผู้ผลิต คุณต้องเปิดเผยข้อมูลด้วยว่าทำอย่างไร ทำไปเท่าไร กับที่ไหนบ้าง และผู้บริโภคจะสามารถตรวจสอบข้อมูลได้อย่างไร เพราะซูเปอร์มาร์เก็ตมีอิทธิพลสูงมากในกระบวนการผลิตและจำหน่ายอาหารทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ทั้งชาวนา ชาวไร่ ชาวประมง แรงงาน พนักงาน มาจนถึงผู้บริโภคเองด้วย ผู้บริโภคที่แคร์ความยั่งยืนอย่างเรา เราก็อยากจะมั่นใจได้ว่าทุกการกระทำและคำโฆษณาของซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นความจริง โปร่งใส และตรวจสอบได้”
แคมเปญ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก’ เป็นการรวมตัวกันของกลุ่มกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย ด้วยการสนับสนุนจากโครงการ SWITCH-Asia II ของสหภาพยุโรป และสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสวีเดน มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในการผลิตและจำหน่ายอาหารในประเทศไทย ผ่านการรณรงค์ให้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับอาหารที่ ‘ดีตั้งแต่ต้นทาง’ คือ เป็นธรรมกับเกษตรกรและแรงงาน ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม